อธิบดีฯประพิศ ควง 2 รองฯ ลงพื้นที่พร้อมรับมือน้ำหลากเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันออก

Featured Video Play Icon

อธิบดีกรมชลประทาน นำคณะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ และการเตรียมพร้อมบริหารจัดการน้ำหลากในพื้นที่ทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง สั่งเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ย้ำบริหารจัดการน้ำไม่ให้กระทบพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล และนายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคกลางในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 6 – 9 ก.ย. 64 จะมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง กรมชลประทาน ได้วางแผนรับมือน้ำที่ไหลหลากมาจากทางตอนบนของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ด้วยการวางแผนตัดยอดน้ำและเบี่ยงน้ำไม่ให้ไหลผ่านเข้าสู่พื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร ด้วยการใช้คลองแนวขวาง ได้แก่ คลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองหกวาสายล่าง คลองแสนแสบ คลองนครเนื่องเขต และคลองประเวศน์บุรีรมย์ ตัดยอดน้ำหลากบางส่วนระบายออกทางแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำนครนายก และแม่น้ำบางปะกง โดยใช้ประตูระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำ ในการระบายน้ำออกจากคลองดังกล่าว ส่วนปริมาณน้ำที่เหลือจะระบายลงสู่คลองแนวดิ่ง ได้แก่ คลอง 1 ถึง คลอง 17 คลองพระองค์ไซยานุชิต และคลองด่าน เพื่อระบายลงสู่คลองชายทะเล ซึ่งมีการติดตั้งสถานีสูบน้ำไว้ทั้งหมด 12 สถานี อัตราการสูบน้ำรวม 481 ลบ.ม/วินาที หรือประมาณ 41.55 ล้าน ลบ.ม/วัน

สำหรับกรณีที่มีความจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการน้ำร่วมกันกับกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่ไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน กรมชลประทานจะใช้สถานีสูบน้ำบริเวณรอยต่อกับเขตกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สถานีสูบน้ำคลองหกวาสายล่าง (อัตราการสูบ 69 ลบ.ม/วินาที) สถานีสูบน้ำหนองจอก (อัตราการสูบ 40 ลบ.ม./วินาที) สถานีสูบน้ำประเวศน์บุรีรมย์ (อัตราการสูบ 60 ลบ.ม/วินาที) สถานีสูบน้ำเปรมใต้รังสิต (อัตราการสูบ 12 ลบ.ม/วินาที) เพื่อสูบน้ำออกจากพื้นที่กรุงเทพฯลงสู่คลองชลประทาน ก่อนระบายลงสู่แม่น้ำและอ่าวไทยตามลำดับ ซึ่งสถานีสูบน้ำและอาคารบังคับน้ำตามแนวรอยต่อเหล่านี้ จะมีเกณฑ์ระดับน้ำเพื่อควบคุมการปิด-เปิด ที่เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างกรมชลประทานและกรุงเทพมหานคร ใช้ในการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน พร้อมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแนวทางในการป้องกันและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำให้กระทบกับประชาชนในพื้นที่ต่างๆให้น้อยที่สุด