วันที่ 3 กันยายน 2564 เวลา 10.30 น. นายภักดี จันทร์เกษ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการฝนหลวง เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงเร่งปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับใช้การ และช่วยเหลือพื้นที่เขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยกว่าเกณฑ์ เนื่องจากในหลายพื้นที่มีปริมาณฝนตกค่อนข้างน้อยและไม่กระจายตัว ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรและเหล่าทัพจึงมีการวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงอย่างต่อเนื่องทุกวัน โดยเมื่อวานนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบก ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 11 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.เชียงใหม่ ตาก ลำปาง พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก นครสวรรค์ สระบุรี ลพบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ยโสธร ฉะเชิงเทรา ประจวบคีรีขันธ์ และ พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนจำนวน 6 แห่ง และอ่างเก็บน้ำ จำนวน 5 แห่ง
สำหรับการติดตามสภาพอากาศเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการปฏิบัติการฝนหลวงในวันนี้ พบว่าจากแผนที่อากาศผิวพื้นของกรมอุตุนิยมวิทยา ณ เวลา 01.00 น. แนวร่องฝนพาดผ่านภาคเหนือตอนล่างภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้มีโอกาสเกิดฝนตามบริเวณพื้นที่ดังกล่าว และมีโอกาสที่สามารถปฏิบัติการฝนหลวงเสริมให้มีฝนตกให้กับพื้นที่ที่มีความต้องการฝนได้ และทางกรมอุตุนิยมวิทยายังได้ประกาศแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนัก บริเวณภาคกลางฝั่งตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนฝั่งตะวันออก รวมถึงแจ้งเตือนพื้นที่ฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดจันทบุรีและตราด ซึ่งขอให้พี่น้องประชาชนระวัง
สถานการณ์ดังกล่าวที่อาจส่งผลกระทบความเสียหายแก่บ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรได้ อย่างไรก็ตาม ในด้านการขอรับบริการฝนหลวงยังคงมีจำนวนมาก ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลปริมาณน้ำฝนสะสมและแผนที่ความชื้นในดินที่พบว่า บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความชื้นน้อย และมีความต้องการน้ำค่อนข้างมาก รวมถึงปริมาณน้ำใช้การของพื้นที่เขื่อนและอ่างเก็บน้ำยังมีปริมาณน้ำน้อยกว่าเกณฑ์จำนวนหลายแห่ง ดังนั้น ในวันนี้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจึงมีการติดตามสภาพอากาศและวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 5 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่
- หน่วยฯ จ.เชียงใหม่ ช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายหลัก : พื้นที่การเกษตร จ.เชียงใหม่ (ดอยหล่อ ฮอด) จ.พะเยา พื้นที่เป้าหมายรอง : พื้นที่การเกษตร จ.ลำปาง จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงใหม่ (แม่ออน ฮอด) และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนกิ่วคอหมา อ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณต่ำกว่า 30%
- หน่วยฯ จ.ขอนแก่น ช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายหลัก : พื้นที่การเกษตร จ.ขอนแก่น จ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนห้วยหลวง พื้นที่เป้าหมายรอง : พื้นที่การเกษตร จ.ชัยภูมิ จ.มหาสารคาม
- หน่วยฯ จ.อุบลราชธานี ช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายหลัก : พื้นที่การเกษตร จ.ศรีสะเกษ จ.อุบลราชธานี พื้นที่เป้าหมายรอง : พื้นที่การเกษตร จ.ยโสธร จ.อำนาจเจริญ
- หน่วยฯ จ.สุรินทร์ ช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายหลัก : พื้นที่การเกษตร จ.ร้อยเอ็ด จ.สุรินทร์ จ.มหาสารคาม พื้นที่เป้าหมายรอง : พื้นที่การเกษตร จ.บุรีรัมย์
- หน่วยฯ จ.นครราชสีมา ช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายหลัก : พื้นที่การเกษตร จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ พื้นที่เป้าหมายรอง : พื้นที่การเกษตร จ.ชัยภูมิ
อย่างไรก็ตาม สำหรับ 7 หน่วยปฏิบัติการ จะติดตามสภาพอากาศตลอดทั้งวัน หากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายทันที และอีก 1 หน่วยปฏิบัติการ คือ หน่วยฯ จ.พิษณุโลก ไม่มีการบินปฏิบัติการฝนหลวง เนื่องจากเจ้าหน้าที่เข้ารับการฉีดวัคซีน Covid-19 ทั้งนี้ พี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account : @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100
*************************