ชป.จัดปัจฉิมนิเทศ เดินหน้าแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัย จังหวัดภูเก็ต

กรมชลประทาน เดินหน้าศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัย จังหวัดภูเก็ต พร้อมเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและพัฒนาโครงการฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะประธานการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัย จังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้วางแผนโครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัย รวมถึงการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนการใช้น้ำของจังหวัดภูเก็ต ที่สอดคล้องกับความต้องการของหน่วยงานในพื้นที่ ประชาชน และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ พร้อมกับการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมของลุ่มน้ำคลองถลาง

ทั้งนี้ จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่ามีแผนการดำเนินการที่เหมาะสมจำนวน 2 โครงการ ดังนี้ โครงการเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ คือ โครงการแก้มลิงบ้านโคกโตนดพร้อมระบบผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ เพื่อสนับสนุนระบบการผลิตน้ำประปาของการประปาภูมิภาค (สถานีผลิตบ้านบางโจ) สามารถขยายกำลังผลิตจาก 12,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เป็น 35,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และยังเป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับอุปโภค-บริโภคในช่วงฤดูแล้งของประชากรในพื้นที่ตำบลเชิงทะเล และตำบลเทพกระษัตรี รวมถึงเป็นแหล่งสันทนาการและพักผ่อนหย่อนใจของชุมชนโดยรอบ อีกโครงการคือ โครงการเพื่อการบรรเทาอุทกภัย คือ โครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำคลองถลาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองถลาง และคลองสาขา เพื่อรองรับการระบายน้ำจากพื้นที่ชุมชน พร้อมทั้ง เพื่อปรับปรุง ประตูระบายน้ำวัดพระทอง ฝายบ้านโคกโตนด และสิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมถึงลดผลกระทบกับพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ทำให้การระบายน้ำลงสู่ทะเลอันดามันได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

สำหรับในวันที่ (3 ก.ย.64) เป็นการจัดประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัย จังหวัดภูเก็ต โดยมี นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ พร้อมด้วย นายเกื้อศักดิ์ ทาทอง ผู้เชี่ยวชาญฯด้านวางแผนฯ กรมชลประทาน ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทที่ปรึกษา ผู้แทนจากหน่วยงานราชการระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล องค์กรภาคประชาชน ผู้นำชุมชน ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการฯ สื่อมวลชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน ผ่านระบบ VDO Conference โปรแกรม Zoom เพื่อนำเสนอและรับฟังผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ศึกษาโครงการฯ และทุกภาคส่วน ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ สำหรับนำไปประมวลผลพัฒนาโครงการฯ ให้ตรงกับความต้องการและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน กรมชลประทานจะรวบรวมข้อมูลดังกล่าว เพื่อนำไปประกอบในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นของโครงการ และนำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ก่อนนำเข้าสู่วาระการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ พิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป