สตง. ก้าวสู่ผู้นำองค์กรการตรวจเงินแผ่นดินในภูมิภาคเอเชีย พร้อมร่วมกำหนดทิศทางการตรวจเงินแผ่นดินในยุค Next Normal

สตง. ยกระดับองค์กรตรวจเงินแผ่นดินไทยก้าวสู่เวทีสากลตามนโยบายของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ล่าสุด พลเอก ชนะทัพ  อินทามระ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งประธานองค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดแห่งเอเชีย (ASOSAI) และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชา ASOSAI ระหว่างวันที่ 6-8 กันยายน 2564 โดยมีผู้นำขององค์กรการตรวจเงินแผ่นดินในภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคอื่นทั่วโลกจำนวน 60 ประเทศ ประมาณ 300 คน เข้าร่วมประชุมในรูปแบบ Virtual Meeting  มั่นใจพร้อมนำเสนอปฏิญญากรุงเทพ 2564 เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดินในยุค Next Normal

ทั้งนี้ องค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดแห่งเอเชีย (Asian Organization of Supreme Audit Institutions : ASOSAI) เป็นองค์การระหว่างประเทศด้านการตรวจเงินแผ่นดินในระดับภูมิภาค ภายใต้องค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดระหว่างประเทศ (International Organization of Supreme Audit Institutions : INTOSAI) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2522 มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการตรวจเงินแผ่นดินภายในภูมิภาคและระหว่างภูมิภาค ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกในแถบภูมิภาคเอเชีย จำนวน 47 ประเทศ สำหรับโครงสร้างการบริหารงานของ ASOSAI ดำเนินการในรูปแบบของคณะมนตรี (Governing Board) โดยมีประธาน (Chairman) และเลขาธิการ (Secretary General) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้กำหนดนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินที่สำคัญในหลายด้าน โดยเฉพาะการยกระดับให้องค์กรการตรวจเงินแผ่นดินไทยก้าวสู่การเป็นองค์กรชั้นนำด้านการตรวจสอบในระดับสากล ซึ่งที่ผ่านมา สตง. ได้แสดงบทบาทสำคัญในเวทีระหว่างประเทศ อาทิ การได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง คณะมนตรีขององค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดระหว่างประเทศ (INTOSAI) ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศด้านการตรวจเงินแผ่นดินที่มีความสำคัญมากที่สุด และเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีประเทศสมาชิกมากที่สุดลำดับสองรองจากองค์การสหประชาชาติ (United Nations) การได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอกขององค์กรสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear– Test–Ban Treaty Organization หรือ CTBTO) ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้การกำกับขององค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) ฯลฯ

ล่าสุด พลเอก ชนะทัพ อินทามระ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งประธาน ASOSAI ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง ปี 2564-2567 และจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาองค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดแห่งเอเชีย (ASOSAI Assembly) ครั้งที่ 15  การประชุมคณะมนตรี (ASOSAI Governing Board) ครั้งที่ 56 และครั้งที่ 57 และการประชุมวิชาการ (ASOSAI Symposium) ครั้งที่ 8 ในรูปแบบ Virtual Meeting ระหว่างวันที่ 6-8 กันยายน 2564 โดย สตง. จะได้นำเสนอปฏิญญากรุงเทพ 2564 (Bangkok Declaration 2021) ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สำคัญของการประชุมระดับนานาชาติดังกล่าว

“ปฏิญญาการประชุมเปรียบเสมือนเอกสารประวัติศาสตร์ที่สะท้อนแนวคิดของการตรวจเงินแผ่นดินในอนาคตว่าควรมีการเตรียมความพร้อมและควรมีทิศทางอย่างไร สำหรับ Bangkok Declaration 2021 จะเป็นการสะท้อนภาพการพัฒนาองค์กรตรวจเงินแผ่นดินของภูมิภาคเอเชียในยุค Next Normal โดยมีประเด็นที่สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่

1) องค์กรการตรวจเงินแผ่นดินกับการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในยุค Next Normal

2) องค์กรการตรวจเงินแผ่นดินกับการส่งเสริมให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน

3) องค์กรการตรวจเงินแผ่นดินกับการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ประโยชน์ในการตรวจสอบภาครัฐ

4) องค์กรการตรวจเงินแผ่นดินกับการตอบสนองต่อประเด็นด้านภัยพิบัติและโรคระบาด” ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าว

ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวถึงภาพตัวอย่างส่วนหนึ่งของทิศทางการตรวจเงินแผ่นดินในยุค Next Normal ผ่านตัวย่อ AAA” ได้แก่

1) Advisory Roles องค์กรตรวจเงินแผ่นดินควรให้ความสำคัญกับบทบาทในการให้คำปรึกษาทางด้านการเงินการคลัง การใช้จ่ายเงินแผ่นดินแก่รัฐบาลหรือหน่วยรับตรวจ               

2) Advanced Technologies การตรวจเงินแผ่นดินในอนาคตต้องมุ่งสู่การปรับตัวให้ทันต่อยุคการปฏิวัติดิจิทัล (Digital Revolution) โดยการปรับตัวที่สำคัญที่สุดคือการนำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาวิเคราะห์ ประมวลผลและเชื่อมโยงข้อมูลไว้ด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ การนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มาใช้เพื่อช่วยวิเคราะห์การตรวจสอบ ฯลฯ

3) Auditor of the future ผู้ตรวจสอบในอนาคตต้องมีทักษะที่จำเป็นอย่างน้อยสามด้าน ได้แก่ ทักษะความคิดในเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking Skill) ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytic Skill) และทักษะด้านอารมณ์และสังคม (Soft Skills)

“การดำรงตำแหน่งประธาน ASOSAI และการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมขององค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดแห่งเอเชียดังกล่าว นอกจากจะเป็นดัชนีชี้วัดสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพขององค์กรการตรวจเงินแผ่นดินของไทยทึ่จะได้มีบทบาทนำในการกำหนดทิศทางการพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดินในเวทีระหว่างประเทศแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงกลไกการตรวจสอบของประเทศไทยที่ได้รับความเชื่อมั่นในสายตาของนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ด้านความโปร่งใสของประเทศไทยในระยะยาว” นายประจักษ์  กล่าวในตอนท้าย

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน  สำนักประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร  โทร. 0 2618 5755