วันที่ 31 สิงหาคม 64 เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ ห้องประชุมอโยธยา ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ครั้งที่ 43/2564 โดยมี พันเอก(พ) เพิ่มศักดิ์ ขุนโขลน รอง ผอ.รมน.จว. นายประทีป การมิตรี ปลัดจังหวัด นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายก อบจ. นพ.พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด คณะกรรมการฯ และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ Zoom โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ที่ตั้ง เพื่อติดตามและกำหนดมาตรการบริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โดยที่ประชุมได้ติดตามสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ข้อมูล ณ วันที่ 30 สิงหาคม 64 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 492 ราย รักษาหายแล้ว 517 ราย เสียชีวิต 2 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 21,134 ราย รักษาหายสะสม 13,329 ราย เสียชีวิตสะสม 198 ราย รวมทั้งติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการผ่อนปรนการปิดสถานที่หรือกิจการฯ การปรับปรุงตลาดเจ้าพรหม และรับทราบแผนมาตรการควบคุมโรคของบริษัท ไทยนิปปอนฟู้ดส์ อ.อุทัย และการดำเนินการดูแลผู้ป่วยโควิดในเรือนจำและทัณฑสถาน ซึ่งสถานการณ์ได้คลี่คลายลง โรงพยาบาลแม่ข่ายจึงได้ขอปิดตัวแล้ว
ในส่วนมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ได้ให้ความช่วยเหลือในโครงการ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” คนละครึ่ง “เราชนะ” ยิ่งใช้ยิ่งได้ รวมถึงเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 และ 40 และการเยียวยาของ พมจ. ซึ่งได้สงเคราะห์กลุ่มเปราะบางแล้ว 2,742 ราย วงเงิน 5,028,000 บาท มอบถุงยังชีพให้กลุ่มเปราะบาง 830 ถุง และมอบหน้ากากอนามัย 13,000 ชิ้น ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบให้ทุกอำเภอประชาสัมพันธ์เชิญชวนร้านค้าและประชาชนที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ “คนละครึ่ง” ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเพื่อรับความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมาตรการเชิงรุก โดยขอให้ท้องถิ่นจัดหา ATK เพิ่มเติม เพื่อเป็นเครื่องมือในการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก ในส่วนของการจัดการเรียนการสอน ตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 32) คำสั่งจังหวัดฯ ที่ 1849/2564 และประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการเลื่อนเวลาเปิดภาคเรียนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยังคงให้จัดการเรียนการสอบเฉพาะรูปแบบ On Air, Online, On Demand, On Hand และผ่านทางไปรษณีย์เท่านั้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้ร่วมพิจารณาประเด็นสำคัญเรื่องมาตรการเร่งด่วนเพิ่มเติมให้สอดรับตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฯ ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 32) โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามประเมินผลเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ นอกจากนี้ ได้พิจารณาแผน “อยุธยาโมเดล” (Ayutthaya Model) โรงงานต้นแบบมาตรฐานในการจัดการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ตามนโยบายจากผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้สถานประกอบการสามารถดูแลตนเอง ดูแลพนักงาน ดูแลครอบครัวของพนักงาน ลดการกระจายเชื้อ ภายใต้ธุรกิจที่สามารถเดินต่อได้ ภายใต้สโลแกน “เศรษฐกิจเดินหน้า อยุธยาปลอดภัย ทุกภาคส่วนร่วมใจ ห่างไกลจากโควิด” โดยกำหนดเป้าหมายร่วมกันว่า โรงงานที่พบการติดเชื้อ และไม่มีการระบาดเป็นคลัสเตอร์ ไม่ต้องปิดโรงงาน โดยให้หลักระบาดวิทยา โดยมีกรมควบคุมโรค กรมอนามัย เป็นที่ปรึกษาโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบแผนดังกล่าว และมอบให้คณะทำงานไปดำเนินการให้เป็นไปตามแผนฯ สามารถประกาศ Kick off อยุธยาโมเดล ใช้เป็นต้นแบบระดับประเทศต่อไป ในส่วนการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด ขอความร่วมมือให้ทุกอำเภอลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์เชิญชวนกลุ่ม 608 ให้ฉีดวัคซีน แบบเชิงรุกเคาะประตูบ้านตามบัญชีรายชื่อของแต่ละอำเภอให้ได้ตามเป้าหมายร้อยละ 70 ของจำนวนประชากร เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่และลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ทั้งนี้ หากต้องการปรึกษาด้านการแพทย์ ขอความช่วยเหลือด้านการดำรงชีวิต และความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ สามารถติดต่อสายด่วน Call Center ของศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอยุธยา หมายเลข 0 3532 1456 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ข่าว : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เว็ปไซน์ https://ayutthaya.prd.go.th/