กรมอนามัย ขับเคลื่อน พ.ร.บ.นมผง หนุนร้านขายยาร่วมป้องสิทธิ์แม่ให้ลูกได้กินนมจากเต้า

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขลงพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ขับเคลื่อนพระราชบัญญัติการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 สร้างความเข้าใจแก่ร้านขายยาและทุกจุดจำหน่าย ที่อาจเสี่ยงในการละเมิดพ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้ความรู้ที่ถูกต้องตามที่ปรากฏในฉลาก ไม่ส่งเสริมการตลาดด้วยวิธีการลด แลก แจก แถม เพื่อปกป้องสิทธิ์ให้แม่ได้เลี้ยงลูก ด้วยนมตนเอง สร้างรากฐานชีวิตที่ดีด้วยนมแม่ให้กับเด็กไทยทุกคน

วันที่ (14 มกราคม 2562) แพทย์หญิงอัมพร  เบญจพลพิทักษ์  รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยในการลงพื้นที่ขับเคลื่อนพระราชบัญญัติการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 หรือ  พ.ร.บ.นมผง ณ  จังหวัดนครสวรรค์ ว่า ภายหลังที่กรมอนามัยและหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้ผลักดันพระราชบัญญัติการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 หรือ พ.ร.บ.นมผงให้มีผลบังคับใช้โดยมีระยะเวลามากกว่า 1 ปี โดยมีเจตนารมณ์ที่สำคัญ คือ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคโดยเฉพาะแม่และครอบครัว ให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาหารทารกและเด็กเล็ก ผ่านการควบคุมวิธีการส่งเสริมการตลาดให้เป็นไปอย่างเหมาะสมพบว่า ผลจากการลงพื้นที่ติดตามเฝ้าระวังการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กในกลุ่มห้างสรรพสินค้า ร้านค้า โรงพยาบาลรัฐบาล และโรงพยาบาลเอกชนมีการปรับตัว และทำความเข้าใจกับพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้เป็นอย่างดี

แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่อไปว่า ร้านขายยาเป็นหนึ่งในสถานที่มีการจำหน่ายนมผง และผู้ประกอบการบางแห่ง จะวิตกกังวลต่อการกระทำความผิดตามพ.ร.บ. ฉบับนี้ได้ นอกจากจะมีการจำหน่ายและยังเป็นสถานที่ให้คำแนะนำการใช้ หรือเลือกใช้ผลิตภัณฑ์นมผง จึงมีข้อควรระวังสำหรับร้านขายยาที่ควรต้องปฏิบัติตาม คือ 1) การให้ข้อมูลสารอาหารของอาหารสำหรับทารกหรืออาหารสำหรับเด็กเล็กสามารถให้ข้อมูลได้แต่ข้อมูลนั้นต้องเป็นข้อมูลที่ปรากฏในฉลาก และ2) ห้ามส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารก หรืออาหารสำหรับเด็กเล็กในลักษณะการแจกคูปอง การให้ส่วนลดราคา การลด การขายอาหารสำหรับทารก หรืออาหารสำหรับเด็กเล็ก จับคู่หรือผนวกกับสินค้าประเภทเดียวกันหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆกรณีลดราคาสินค้ากลุ่มอาหารสำหรับทารก อาหารสำหรับเด็กเล็ก สามารถกระทำได้ แต่ห้ามติดป้ายหรือกิจกรรมใดๆที่แสดงให้เห็นว่ามีการลดราคา เช่น การติดป้ายที่แสดงราคาจำหน่ายเดิมแล้วมีเครื่องหมายขีดกากบาททับ แสดงคู่กับราคาสินค้าที่ปรับลดใหม่การแจกอาหารสำหรับทารกหรืออาหารสำหรับเด็กเล็ก ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม รวมทั้งการให้สิ่งใด ๆ แก่หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่มีบุตรซึ่งเป็นทารกหรือเด็กเล็กหรือบุคคลในครอบครัวที่มีทารกหรือเด็กเล็ก

“ทั้งนี้ พระราชบัญญัติการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 ฉบับนี้ ไม่ได้มีเจตนารมณ์หรือ  มีผลบังคับห้ามการขายอาหารสำหรับทารกหรืออาหารสำหรับเด็กเล็กให้แก่หญิงตั้งครรภ์ แม่และครอบครัว ดังนั้น ร้านขายยาสามารถขายผลิตภัณฑ์ได้ตามปกติเพียงแต่ขอความร่วมมือปฏิบัติตามข้อกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งช่วยให้เด็กที่กินนมแม่ไม่เสียโอกาส  ถูกเปลี่ยนไปกินนมผงก่อนเวลาอันควรอีกทั้งยังช่วยปกป้องแม่ที่จำเป็นต้องใช้นมผงให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องรอบด้านเกี่ยวกับนมผงและไม่ถูกโน้มน้าวด้วยวิธีส่งเสริมการตลาดผ่านการลด แลก แจก แถมของผู้ประกอบการนมผงที่มีมาอย่างยาวนาน เป็นการสร้างรากฐานแห่งชีวิตที่ดีที่สุดด้วยนมแม่ให้กับเด็กไทยทุกคน” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ทางด้าน แพทย์หญิงศรินนา แสงอรุณ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ กล่าวว่าจากการสำรวจปี 2560 ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 3 พบเด็กกินนมแม่อย่างเดียวร้อยละ 31.0 ยังไม่ถึงเป้าหมายตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้เด็กอย่างน้อย ร้อยละ 50 ได้รับนมแม่อย่างเหมาะสม  ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากมารดาทำงานนอกบ้าน เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม จึงไม่เห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา ศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ได้ดำเนินการถ่ายทอดความรู้เนื้อหาของ พ.ร.บ.นมผงให้บุคลากรและเครือข่าย 5 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท อุทัยธานี พิจิตร นครสวรรค์ และกำแพงเพชร  พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดตั้งมุมนมแม่ ในสถานประกอบการจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ บริษัทโนเบล เอ็นซีจำกัด และโรงสีไฟนครหลวง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท บริษัทเทสโก้ โลตัส สาขาหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี  บริษัทแม็คโคร จำกัด สาขาพิจิตร อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร  บริษัทโกบอลเฮ้าส์ สาขานครสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ และบริษัทน้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร อำเภอ  บึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร สำหรับในปี 2562 นี้ ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพิ่มศักยภาพบุคลากรสาธารณสุข พนักงานเจ้าหน้าที่และเครือข่ายในการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 และส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในเขตสุขภาพที่ 3 เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานได้มีความรู้ความเข้าใจเนื้อหาและบทบาทหน้าที่  ในการเฝ้าระวังการละเมิดการกระทำความผิด พ.ร.บ.นมผงในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบมากขึ้น

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ