สมุนไพรน่ารู้ อภัยภูเบศร : เพชรสังฆาต ทางเลือกดูแลกระดูก

หนึ่งในปัญหาของผู้สูงวัยที่จะเจอบ่อยๆ ก็คือ ภาวะกระดูกบาง กระดูกพรุน กระดูกเปราะ วันนี้เราจะมาทราบกันว่ากระดูกพรุนเกิดจากอะไร และจะมีสมุนไพรเจ๋งๆ ตัวไหนที่จะมาช่วยบรรเทาอาการกระดูกพรุน หรือลดอาการปวดที่เกิดจากการผิดปกติของกระดูกได้บ้าง

ภาวะกระดูกพรุน คือ ภาวะที่เนื้อภายในกระดูกบางลง มีแคลเชียมในเนื้อกระดูกลดลง โครงสร้างของกระดูกไม่ได้เป็นท่อนแข็งทึบอย่างที่เราเห็น แต่ภายในเนื้อกระดูกจะมีโครงตาข่ายพรุนเป็นโครงสร้างและมีแคลเซียมเข้าไปเกาะด้านในโครงตาข่าย หรือเติมเต็มให้เนื้อกระดูกแน่นแข็งแรงนั่นเอง ซึ่งเซลล์ที่กระดูกก็จะทำการสร้างและสลายเนื้อกระดูกอยู่ตลอดเวลาในภาวะที่สมดุลกัน ทำให้กระดูกมีสุขภาพดีแข็งแรงรองรับน้ำหนักร่ายกายเราได้ …แต่ถ้าวันใดที่กระดูกมีการทำลายมากกว่าสร้าง ซึ่งอาจจะเกิดได้จากที่มีอายุมากขึ้น ฮอร์โมนเพศลดลง ซึ่งมักพบในหญิงวัยหมดประจำเดือน รวมถึงขาดวิตามินดี (vitamin D) หรือขาดแคลเซียม การเป็นโรคไตเรื้อรัง ก็จะทำให้การสร้างและการสะสมแคลเซียมในกระดูกลดลง กระดูกก็จะบางลง เกิดภาวะกระดูกพรุนในที่สุด

Close up fresh of Cissus Quadrangularis Linn.( Edible – Stemed Vine ) herb for pain treatment on white background

เพชรสังฆาต เป็นสมุนไพรที่มีข้อมูลการใช้มาอย่างยาวนาน เช่น ในศาสตร์อายุรเวทของอินเดียมีการใช้ในการสมานกระดูก ลดอาการปวดจากกระดูกหัก ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยในปัจจุบัน ที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการลดปวดได้  ส่วนเหนือดินของเพชรสังฆาต มีสารสำคัญได้แก่ ascorbic acid, Carotene A, Ketosteroil, Calcium, Triterpenods, Flavonoids, Phytosterols, caldium oxalate ซึ่งการที่เพชรสังฆาตมีสารสำคัญทางยาที่หลากหลาย ทำให้มีฤทธิ์ในการรักษาที่หลากหลายเช่นกัน  มีรายงานถึงประสิทธิภาพในการลดปวดกล้ามเนื้อ ลดการอักเสบ สมานแผล ช่วยลดน้ำหนัก ลดไขมันในกระแสเลือด และที่สำคัญสามารถลดอาการปวดจากกระดูก และช่วยสมานกระดูกที่หักได้ด้วย

งานวิจัยในคนไทย

โดยนายแพทย์โอฬาริก มุสิกวงศ์ และคณะ วิจัยในอาสาสมัครสตรีหมดประจำเดือนจำนวน 38 คน อายุ 45-78 ปี แบ่งอาสาสมัครเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มได้ยาหลอก และได้แคปซูลเพชรสังฆาตขนาด 400 มิลลิกรัม กิน 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เป็นเวลา 3 เดือน โดยที่มีการเจาะเลือดเพื่อดูค่าการทำงานของตับ การทำงานของไต และค่าโปรตีน PINP (เป็นโปรตีนที่บ่งบอกถึงการสร้างเนื้อกระดูก) ก่อน และหลังกินยาของทั้ง 2 กลุ่ม พบว่า

กลุ่มที่ได้เพชรสังฆาตกินติดต่อกัน 3 เดือน มีค่าโปรตีน PINP มากขึ้นกว่ากลุ่มที่ได้ยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่าเพชรสังฆาตมีส่วนช่วยลดการสลายเนื้อกระดูกในหญิงวัยหมดประจำเดือน ป้องกันภาวะกระดูกพรุนได้ ส่วนค่าการทำงานของตับและไต ไม่มีความแตกต่างกันของทั้ง 2 กลุ่ม

อีกหนึ่งการศึกษา การใช้เพชรสังฆาตในผู้ป่วยที่กระดูกบริเวณกรามและใบหน้าหัก (maxillofacial fracture) ในต่างประเทศ โดยผู้ป่วยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ไม่ได้รับ และได้รับเพชรสังฆาต แคปซูลขนาด 500 มิลลิกรัม กินวันละ 3 ครั้ง  พบว่า กลุ่มที่ได้รับเพชรสังฆาตแคปซูล อาการปวด บวมน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้กินเพชรสังฆาต ที่สำคัญกระดูกที่หักยังสมานติดกันเร็วกว่ากลุ่มที่ไม่ได้กินเพชรสังฆาตอีกด้วย แต่ก็พบว่าคนที่กินเพชรสังฆาตจะมีปริมาณแคลเซียม (calcium) และปริมาณฟอสเฟส (phosphate) สูงมากขึ้น จึงเป็นเหตุผลที่ไม่แนะนำให้คนที่เป็นโรคไตกินเพชรสังฆาต

นอกจากงานวิจัยจากต่างประเทศที่ชี้ชัดถึงประสิทธิภาพในการบำรุง สมานกระดูกแล้ว ในประเทศไทยยังใช้เพชรสังฆาตในการรักษาริดสีดวงทวาร และยังมีงานวิจัยอื่นๆ ถึงประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักอีกด้วย

ขนาดการรับประทาน

เพชรสังฆาตชนิดแคปซูล แนะนำทานวันละ 1-2 แคปซูล หลังอาหารเช้า กลางวัน เย็น

ส่วนใครที่มีปลูกที่บ้าน ไม่แนะนำให้ทานสดๆ จากต้น เพราะจะเกิดอาการคัน และระคายเคืองคอได้ แนะนำให้หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ และสอดเข้าไปในกล้วยสุกที่หั่นเป็นแว่นๆจากนั้นกลืนทั้งกล้วยห้ามเคี้ยว วิธีนี้ช่วยให้กินเพชรสังฆาตได้ง่ายขึ้น

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงที่มักพบ เช่น อาจมีอาการท้องอืด แน่นท้องได้บ้าง ซึ่งจะแนะนำให้ทานหลังอาหาร ก็จะลดผลข้างเคียงนี้ไปได้บ้าง

ข้อควรระวัง

ไม่แนะนำในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง เพราะเพชรสังฆาตมีฟอสเฟส และแคลเซียมออกซาเลทสูง จะทำให้ตกตะกอนที่ไต ทำให้ไตทำงานหนักได้ ไม่แนะนำสำหรับผู้ที่มีปัญหานิ่วในไต โรคตับ ตั้งครรภ์ และให้นมบุตร

ข้อมูล : ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร

ปรึกษาหมอคลินิกออนไลน์ https://lin.ee/47PRVjiFz

อ้างอิง

  1. การศึกษาผลของ เพชรสังฆาต ต่อ bone marker ในสตรีที่มีภาวะกระดูกบาง; การศึกษาแบบสุ่มและปิดสองทางและมียาหลอกเป็นตัวควบคุม. –เข้าถึงได้จาก http://hr2017.humanrepacademy.org/abstractbook/pdf/abs5376.pdf
  2. Clinical evaluation of Cissus quadrangularis as osteogenic agent in maxillofacial fracture: A pilot study เข้าถึงได้จาก https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4784127/