24 ส.ค. 2564 (เวลา 14.30 น.) นายประสิทธิ์ สุวรรณประสม พัฒนาการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย ดร.นวัทตกร อุมาศิลป์ อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย นำเสนอกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกยางกล้วย ในกิจกรรมการประกวดเผยแพร่และการดำเนินงานเครือข่ายองค์ความรู้ KBO จังหวัด ปี 2564 ซึ่งกลุ่มบาติกยางกล้วย (ป้าบุญธรรม) ตำบลเขารูปช้าง อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นตัวแทนของจังหวัดสงขลา
ซึ่งกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเครือข่ายองค์ความรู้ KBO จังหวัด ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีในจังหวัดสงขลา และสถาบันการศึกษาทั้ง 5 แห่งเป็นอย่างดี ทั้งนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย ดร.นวัทตกร อุมาศิลป์ และอาจารย์ณัฐชนา นวลยัง อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ผ้าและเครื่องแต่งกาย พร้อมด้วยนักศึกษาร่วมบูรณาการในรายวิชา โดยนำองค์ความรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมการออกแบบ นวัตกรรมผ้าและสิ่งทอ กระบวนการสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนอัตลักษณ์เข้ามาพัฒนาผ้าบาติกยางกล้วย การพัฒนาครั้งนี้เกิดรูปแบบลวดลายผ้าจากเรื่องราววิถีวัฒนธรรมย่านเมืองเก่า ไทย จีน มุสลิม ลวดลายการประดับอาคารสถาปัตยกรรม เครื่องประดับโบราณและแม่พิมพ์ไม้สำหรับขนมทองเอกหรือขนมสัมปันนี เป็นต้น เพื่อสร้างเรื่องราวที่สะท้อนความเป็นจังหวัดสงขลา รวมทั้งการนำนวัตกรรมวัสดุผ้ามาใช้ในการพัฒนาผ้าบาติกยางกล้วย โดยใช้นวัตกรรมผ้าใยกล้วยเพื่อให้รูปแบบผ้ามีเรื่องราวในทิศทางเดียวกัน นวัตกรรมผ้าฝ้ายรีไซเคิลเพื่อแสดงออกในความรับผิดชอบกับปัญหาขยะสิ่งทอที่มีจำนวนมาก โดยนำผ้ารีไซเคิลผ่านกระบวนการพร้อมนำกลับมาใช้ใหม่สำหรับทำผ้าบาติกยางกล้วย และการสร้างความร่วมมือของคลัสเตอร์ผ้าร่วมกันเพื่อพัฒนาผ้าสงขลาให้มีความน่าสนใจและมีเรื่องราวที่เป็นอัตลักษณ์โดยมีการนำผ้าทอเกาะยอเส้นด้ายเมอซิไลมาใช้ทำผ้าเกาะยอบาติกยางกล้วย โดยทางคณะผู้พัฒนางานครั้งนี้มุ่งเน้นในการสร้างเรื่องราวและสร้างคุณค่าให้กับผ้าและภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้ผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกยางกล้วยมีมูลค่ามากขึ้น สร้างรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างจากเดิม เกิดกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจในผ้าพื้นเมืองและผ้าไทย
ทั้งนี้ นายประสิทธิ์ สุวรรณประสม พัฒนาการจังหวัดสงขลา ได้กล่าวว่า จังหวัดสงขลามีจุดแข็งหลายด้าน มีมหาวิทยาลัย 5 แห่ง ที่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมีความสามารถ ร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน OTOP ยกระดับคุณภาพ มาตรฐานสินค้า ให้เป็นที่ยอมรับต่อผู้บริโภค สงขลามีภูมิปัญญาที่ต้องสืบสาน รักษาและต่อยอด ให้คนรุ่นใหม่ได้พัฒนาและนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาต่อยอดสินค้า เพิ่มช่องทางการจำหน่ายทั้งออนไลน์/ออฟไลน์ ให้ลูกค้าได้เข้าถึง สร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน ภาพ/ข่าว กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน สงขลา #WorldSoilDay
#GlobalSoilPartnership
#UNFAO
#CDD
#SEPtoSDGs
#SDGforAll@Kmitl
#กรมการพัฒนาชุมชน