กรมทรัพย์สินทางปัญญา ชวนแอ่วดอยรับลมหนาว ตามรอยสินค้า GI เชียงราย ชูแหล่งผลิต “กาแฟ ชา สับปะรด” เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

​เมื่อวันที่ 12 -13 มกราคม 2562 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่แหล่งผลิตสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จังหวัดเชียงราย พบผู้ประกอบการสินค้ากาแฟดอยช้าง กาแฟดอยตุง สับปะรดภูแลเชียงราย สับปะรดนางแล และชาเชียงราย เพื่อตรวจสอบกระบวนการผลิต กระบวนการควบคุมคุณภาพสินค้า พร้อมผลักดันแหล่งผลิตสินค้าดังกล่าวให้เป็นแหล่งเรียนรู้ควบคู่ไปกับเส้นทางท่องเที่ยวที่สวยงามภายในจังหวัด

​นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เป็นเครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งคุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้านั้นๆ เป็นผลมาจากการผลิตในพื้นที่ดังกล่าว สัญลักษณ์ GI จึงเปรียบเสมือนเป็นแบรนด์ของท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า ในโอกาสนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่แหล่งผลิตสินค้า GI ของจังหวัดเชียงราย เพื่อเยี่ยมชมและตรวจสอบควบคุมกระบวนการผลิต เพื่อพิสูจน์คุณภาพสินค้า GI ของจังหวัดเชียงรายทั้ง 5 รายการ ได้แก่ กาแฟดอยช้าง กาแฟดอยตุง สับปะรดภูแลเชียงราย สับปะรดนางแล และชาเชียงราย ทั้งยังเป็นการเผยแพร่อัตลักษณ์และความน่าสนใจของสินค้า GI ดังกล่าวให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง”

​นายทศพล กล่าวว่า “สินค้า GI ของจังหวัดเชียงรายล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นและมีคุณภาพ ด้วยปัจจัยทางธรรมชาติซึ่งเป็นพื้นที่หุบเขาสูงจึงเหมาะแก่การปลูกกาแฟอาราบิก้า ประกอบกับการคัดเลือกพันธุ์ การดูแลรักษา การเก็บผลผลิตอย่างพิถีพิถัน และกรรมวิธีการผลิตที่ได้มาตรฐาน ทำให้กาแฟของจังหวัดเชียงรายเป็นกาแฟสารและกาแฟคั่ว-บดที่มีคุณภาพสูงมากแห่งหนึ่งของโลก มีกลิ่นหอมและรสชาติกลมกล่อมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในแต่ละปีสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการในท้องถิ่นได้เป็นจำนวนมาก โดยกาแฟดอยช้างเป็นกาแฟอาราบิก้าสายพันธุ์หลักคาทูรา คาติมอร์ และคาทุย ที่ได้จากผลกาแฟสดที่ปลูกที่หุบเขาดอยช้าง ที่ระดับความสูง 1,000 – 1,700 เมตรจากระดับน้ำทะเล ในตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย ส่วนกาแฟดอยตุงนั้นเป็นกาแฟอาราบิก้าที่ปลูกในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงบนเทือกเขานางนอน ที่ระดับความสูง 800 – 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล โดยนำผลสดมาผลิตเป็นสารกาแฟและกาแฟคั่วเม็ดบดด้วยกรรมวิธีของโครงการพัฒนาดอยตุง”

​นายทศพล กล่าวเพิ่มเติมว่า “สินค้า GI ประเภทต่อมาคือ ชาเชียงราย ปัจจุบันจังหวัดเชียงรายมีพื้นที่ปลูกและผลิตชามากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ มีโรงงานและเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถผลิตชาคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาดชาทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ชาเชียงรายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดเชียงราย โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI คือชาเขียวและชาอู่หลงที่ได้จากพันธุ์ชาอัสสัมและพันธุ์ชาจีน ซึ่งปลูกและผลิตตามกรรมวิธีเฉพาะตามหลักการผลิตชาในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอแม่ลาว อำเภอแม่จัน อำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอเชียงของ อำเภอเวียงเชียงรุ้ง และอำเภอเชียงแสน ที่ระดับความสูงตั้งแต่ 350 – 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล โดยใบชาสดที่มีคุณภาพดีต้องประกอบด้วย 1 ยอดและ 2 ใบชา ยอดชาที่เก็บเกี่ยวแล้วต้องส่งเข้าโรงงานทันทีเพื่อควบคุมคุณภาพให้ได้ตามมาตรฐานที่จัดทำขึ้นโดยสถาบันชา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สมาคมชา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเชียงราย”

“สินค้า GI ของจังหวัดเชียงรายประเภทสุดท้าย คือ สับปะรด ได้แก่ สับปะรดภูแลเชียงราย และสับปะรดนางแล โดยสับปะรดภูแลเชียงรายเป็นสับปะรดในกลุ่มควีน ปลูกในตำบลนางแล ตำบลท่าสุด และตำบลบ้านดู่ ผลมีขนาดเล็ก ทรงกลม เปลือกค่อนข้างหนา เนื้อสีเหลืองกรอบ หวานปานกลาง มีกลิ่นหอม แกนสับปะรดกรอบสามารถรับประทานได้ ใบเรียวเล็กสีเขียวอ่อนและมีแถบสีชมพูบริเวณกลางใบ ขอบใบมีหนามเรียงชิดติดกันตลอดความยาวของใบ ส่วนสับปะรดนางแลเป็นสับปะรดพันธุ์น้ำผึ้ง ปลูกในตำบลนางแล อำเภอเมือง ผลมีรูปทรงกลม เปลือกบาง เนื้อละเอียด สีของเนื้อเหลืองเหมือนน้ำผึ้ง เมื่อปอกเปลือกจะมีกลิ่นหอมเหมือนน้ำผึ้ง รสชาติหวานปานกลางค่อนข้างสูง ใบสีเขียวเข้มเป็นมัน อาจมีจุดหรือแกมสีม่วงคล้ำบริเวณใบ หลังสับปะรดอายุประมาณ 2 เดือนจะทำการหักจุกและห่อด้วยกาบใบ เพื่อให้สารอาหารไปหล่อเลี้ยงมากขึ้น” นายทศพล กล่าว

ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาเล็งเห็นถึงศักยภาพและความพร้อมในด้านต่างๆ ของจังหวัดเชียงราย ซึ่งนอกจากจะมีสินค้า GI ที่โดดเด่นและมีคุณภาพแล้ว ยังมีองค์ประกอบในด้านทัศนียภาพที่สวยงามและภูมิอากาศที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวพักผ่อน กรมฯ จึงเตรียมผลักดันแหล่งผลิตสินค้า GI ทั้ง 5 รายการให้เป็นแหล่งเรียนรู้ควบคู่ไปกับเส้นทางท่องเที่ยวภายในจังหวัด รวมถึงการหาช่องทางทางการตลาด เพื่อสร้างโอกาสสร้างรายได้ที่จะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตอย่างครบวงจร เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนต่อไป

 

————————————