เด็กไทย “คิดดี คิดให้ คิดเป็น”

ทักษะการคิดเพื่อความสำเร็จในชีวิต เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่จะเป็นรากฐานของกระบวนการคิด ตัดสินใจ และการกระทำที่มีส่วนช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จในอนาคต ทักษะการคิดเพื่อความสำเร็จไม่ได้ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด แต่ทุกคนมีศักยภาพที่จะฝึกฝนให้เกิดขึ้นได้

คิดเป็น  (Creation : C)

คิดอย่างมีเหตุผล รู้จักยับยั้งชั่งใจ  รู้จักตั้งเป้าหมายชีวิต  รู้จักวางแผน  มีความมุ่งมั่น  มีการจดจำสิ่งต่างๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้  ยืดหยุ่นความคิดเป็น สามารถจัดลำดับความสำคัญในชีวิต รู้จักริเริ่มและลงมือทำสิ่งต่างๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน

คุณลักษณะ

  • ความจำดี
  • มีสมาธิจดจ่อกับงานที่ทำอย่างต่อเนื่องจนงานเสร็จ
  • สามารถคาดการณ์ผลของการกระทำได้
  • มีความคิดยืดหยุ่น เปลี่ยนความคิดได้เมื่อเงื่อนไขและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
  • สามารถทำงานให้เสร็จตามกำหนดและได้ผลสำเร็จที่ดี
  • รู้จักประเมินตนเอง นำจุดบกพร่องมาปรับปรุงการทำงานของตนให้ดีขึ้น
  • มีเป้าหมายชัดเจน

คิดดี (Positive : P)

รู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง  เรียนรู้และใส่ใจอามรณ์ของผู้อื่น มีความสามารถในการยับยั้งอารมณ์ตนเองได้ รับผิดชอบการกระทำของตนเอง รู้ว่าอะไรดีไม่ดี ยอมรับผิดถ้าทำไม่ดี ไม่ถูกต้อง รู้สึกว่าตนเองเก่งและมีคุณค่าเมื่อประพฤติปฏิบัติดีหรือทำสิ่งต่างๆ ได้สำเร็จ รู้จักปรับใจ ปรับความต้องการของตนเองให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับความเป็นจริง

  • คิดบวก มองผู้อื่นในแง่ที่ดี ไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น
    รู้จักอดทนรอคอยที่จะทำหรือพูดในเวลาที่เหมาะสม
  • รู้จักขอความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น
  • ไม่รบกวนผู้อื่น
  • รู้จักยับยั้งตนเองไม่ให้ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม
  • มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง
  • ควบคุมอารมณ์ได้
  • ใส่ใจและเข้าใจอารมณ์ผู้อื่น
  • ยอมรับผิด

คิดให้ (Response to Society : R)

การมีระเบียบวินัย รับผิดชอบต่อตนเองผู้อื่น มีน้ำใจ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกันด้วยความเต็มใจโดยไม่หวังผลใดๆ ตอบแทน  มองเห็นถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรอบตัวหรือสังคม อยากเข้าไปมีส่วนในการช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ที่เป็นปัญหา รู้ถึงสิทธิและหน้าที่ในความรับผิดชอบ พร้อมลงมือปฏิบัติร่วมช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาต่างๆ

  • สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้เป็นอย่างดี และปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้ดี
  • เป็นที่รักใคร่จากผู้คนรอบข้าง และได้รับความเมตตา
  • ไม่เห็นแก่ตัว คิดถึงส่วนรวมเป็นหลักมากกว่าประโยชน์ส่วนตน
  • เข้าอกเข้าใจและเห็นใจผู้อื่น
  • มีเหตุมีผล เข้าใจและเห็นใจในความทุกข์เดือดร้อนของผู้อื่นโดยไม่เหยียดหยามหรือทับถมผู้อื่น
  • เข้ากับผู้อื่นได้ง่าย และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
  • ใจกว้าง มีความรักให้แก่ผู้คนและสิ่งรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นคน, สัตว์, พืช หรือสิ่งแวดล้อมต่างๆ
  • ชอบช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่นิ่งดูดาย ไม่คิดว่าไม่ใช่เรื่องของตน แล้วละเลยปล่อยทิ้งให้ผู้อื่นเดือดร้อน
  • รับความช่วยเหลือจากผู้อื่น

แนวทางในการส่งเสริมให้เด็ก คิดดี คิดเป็น คิดให้

  • ทำให้เด็กรู้สึกผูกพันไว้วางใจกับ พ่อแม่ ครู ผู้ปกครอง
  • ทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองเป็นที่รักและมีความสำคัญ
  • ปลูกฝังความคิดและทัศนคติทางบวก
  • มีโอกาสเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ
  • ส่งเสริมให้เด็กทำงานจนเสร็จ
  • ส่งเสริมวิธีการค้นหาคำตอบง่ายๆ ด้วยตนเอง
  • ฝึกการวางแผนด้วยการฝึกจัดลำดับกิจวัตรประจำวัน
  • ฝึกให้เด็กสร้างเป้าหมายอย่างมีขั้นตอน
  • สอนให้รู้จักคิดก่อนตอบ
  • ฝึกความคิดยืดหยุ่น มองหาทางออกอื่นๆ ฝึกให้รู้จักแก้ปัญหาต่างๆ
  • ฝึกให้เด็กรักการอ่าน
  • ฝึกความรับผิดชอบในบ้าน
  • ฝึกให้รู้จักการอดทนรอคอย
  • สอนให้รู้จักพึ่งพาตัวเองตามวัย
  • สอนให้รู้จักจัดการอารมณ์ตัวเอง
  • สอนให้เด็กเรียนรู้การมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อ รู้จักการให้และรับ
  • ฝึกสร้างความรู้สึกที่ดีต่อผู้อื่น
  • ฝึกแสดงความชื่นชม ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

เอกสารอ้างอิง

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(2549)  คู่มือเสริมสร้างไอคิวและอีคิวเด็กวัยเรียน 6-11 ปี.

พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ พี.เอส.ซัพพลาย.

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร่งเสริมสุขภาพ (สสส.) ฝึก EF พัฒนาสมองลูกน้อย. SOOK PUBLISHING.

https://www.เกร็ดความรู้.net จิตสาธารณะ.