“บิ๊กอู๋”เผยท่าทีหลังไทยหลุดใบเหลือง ยัน เดินหน้าบูรณาการคุ้มครองแรงงานประมงต่อเนื่อง

รมว.แรงงาน เผยท่าทีกระทรวงแรงงานหลังไทยหลุดใบเหลืองจากอียู มุ่งมั่นบูรณาการทุกภาคส่วน ออกกฎหมายจัดการแรงงานประมงอย่างเป็นระบบ จัดระเบียบแรงงานต่างด้าว มีมาตรการรับคำร้องเรียนและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นต่อไป

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงท่าทีของกระทรวงแรงงานภายหลังอียูประกาศปลดใบเหลือง IUU หรือการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมของไทย ณ ห้องประชุมชั้น 6 กระทรวงแรงงานว่า การปลดใบเหลืองประมงให้กับประเทศไทยในครั้งนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์มาก ซึ่งเป็นผลงานรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมประมง กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ตำรวจ กระทรวงแรงงาน กรมการแพทย์ ศปมผ. เป็นต้น ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามเรื่องนี้มีปัญหาเนื่องมาจากการจับปลาโดยขาดการควบคุม ขาดการรายงานมาอย่างยาวนาน การใช้แรงงานต่างด้าวโดยมีการใช้แรงงานบังคับ ทำให้อียูให้ใบเหลืองประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2558 ในส่วนการแก้ไขปัญหานั้น กระทรวงแรงงานมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน ทั้งด้านอายุแรงงานที่เหมาะสมในการทำประมง เวลาพักในขณะทำงาน การกำหนดค่าจ้างที่เป็นธรรม ให้แรงงานประมงได้เข้าถึงสวัสดิการทั้งประกันสังคมและประกันสุขภาพ การปรับปรุงกฎหมาย พรก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่เก็บเงินแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย เพิ่มประสิทธิภาพของการควบคุมโดยให้กองทัพเรือเป็นเจ้าภาพในการดำเนินงานของศูนย์ PIPO โดยบูรณาการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจตราการอนุญาตการทำประมง

ในส่วนของกระทรวงแรงงานได้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ในการตรวจแรงงาน พร้อมทั้งจัดล่ามในการสื่อสารกับแรงงาน การเพิ่มช่องทางร้องทุกข์ร้องเรียนทาง 1506  ให้เป็นศูนย์ร้องเรียนแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม จัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติ จัดทำทะเบียนประวัติ การออกใบอนุญาตทำงาน โดยกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการจำนวน 1.2 ล้านคน ทำให้มีการควบคุมแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบมากขึ้น มีการสแกนม่านตาแรงงานในกิจการประมงกว่า 1.7 แสนคน ออกกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน การรับรองอนุสัญญา P29 และล่าสุดเตรียมการรับรองอนุสัญญาฉบับที่ 188 ซึ่งเน้นเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย ความปลอดภัย และให้แรงงานที่ทำงานในเรือมีระบบประกันสังคมอีกด้วย

“กระทรวงแรงงานยังคงมุ่งมั่นบูรณาการกับทุกภาคส่วนทั้งการออกกฎหมายรองรับการจัดการแรงงานประมงอย่างเป็นระบบ จัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่เป็นระบบ มีมาตรการรับคำร้องเรียนและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นต่อไป”พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวในท้ายสุด

—————————————-
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/ณัฏฐภัทร์ ชื่นเอี่ยม – ภาพ