วันที่ 16 สิงหาคม 2564 นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี โดย นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย นางกนกอร โพธิ์สิงห์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน นางวริชา เสาทอง พัฒนาการอำเภอเขื่องใน เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) จัดเตรียมความพร้อมในการ ดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช สืบสานงานแผ่นดิน กิจกรรมปลูกรักษาพันธุกรรม ปลูกไม้พื้นถิ่น พันธุ์ไม้ที่ใกล้จะสูญพันธ์ สมุนไพรพื้นถิ่น และพันธุ์ไม้ให้สี ในพื้นที่แปลงโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช. วังอ้อ โมเดล” ศูนย์พุทธธรรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ 17 สิงหาคม 2564
กรมการพัฒนาชุมชน ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เข้าร่วมสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา โดยมีพื้นที่สนองพระราชดำริ จำนวน 16 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน 11 แห่ง วิทยาลัยการพัฒนาชุมชน ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน 3 แห่ง และส่วนนงานพัฒนาชุมชนในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินงานโครงการ/กิจกรรมสนองพระราชดำริ ตามแนวทางที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เพื่อให้การดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กรมการพัฒนาชุมชน (อพ.สธ.-พช.) เป็นไปอย่างต่อเนื่องและบรรลุตามเป้าหมายของแผนแม่บท อพ.สธ.-พช. ระยะ 5 ปี ที่เจ็ด (1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2569) สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี จึงได้จัดทำ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช สืบสานงานแผ่นดิน ขึ้น
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) รวมถึงพัฒนาพื้นที่สนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมการพัฒนาชุมชน (อพ.สธ.-พช.) ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรท้องถิ่นโดยการปลูกรักษาพันธุกรรมพืช การสำรวจรวบรวมพันธุกรรมพืช และบันทึกข้อมูลในระบบสารสนเทศ (GIS) ตลอดจนสร้างความตระหนักและเห็นความสำคัญ แก่เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน และผู้นำชุมชนในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ตามแนวพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)
โอกาสนี้ นายคมกริช ชินชนะ ได้เปิดเผยว่า “โครงการฯ นี้ มีขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม ประกอบด้วย กิจกรรมอนุรักษ์พันธุกรรมพืช สืบสานงานแผ่นดิน ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่
1)กิจกรรมสำรวจพันธุ์ไม้ โดยจับพิกัด ทำรหัสประจำต้นไม้ โดยบันทึกข้อมูลและจัดทำป้าย QR Code ประจำต้นไม้ ดำเนินการในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชนตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี และศูนย์พุทธธรรมพรหมวชิรญาณ ป่าดงใหญ่วังอ้อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
2)กิจกรรมปลูกรักษาพันธุกรรม ปลูกไม้พื้นถิ่น พันธุ์ไม้ที่ใกล้จะสูญพันธ์ สมุนไพรพื้นถิ่น พันธุ์ไม้ให้สี ในพื้นที่ ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชนตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี และศูนย์พุทธธรรมพรหมวชิรญาณ ป่าดงใหญ่วังอ้อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
โดยพันธุ์ไม้ที่จะปลูก ประกอบด้วย ต้นพันธุ์กระชายขาว ต้นพันธุ์ขิง ต้นพันธุ์ฟ้าทะลายโจร ต้นพันธุ์ขมิ้นชัน ต้นพันธุ์มะขามป้อม ต้นพันธุ์ประดู่ ต้นพันธุ์ยางนา ต้นพันธุ์พะยุง ต้นพันธุ์แดง ต้นพันธุ์หูกวาง ต้นพันธุ์พะยอม และต้นพันธุ์กันเกรา โดยกำหนดดำเนินกิจกรรมตามโครงการฯ ในวันที่ 17 สิงหาคม 2564 โดยความเมตตาจากเจ้าคุณพระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ป่าดงใหญ่วังอ้อ ตลอดจนอุบาสก อุบาสิกา บ้านวังอ้อ ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน ตลอดจนผู้มีจิตอาสาและเป็นกุศล ตามหลัก “บวร” หรือ บ้าน วัด ราชการ ทั้งนี้ ในการดำเนินกิจกรรมฯ จะดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา- 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด” นายคมกริช กล่าวปิดท้าย
#WorldSoilDay
#GlobalSoilPartnership
#UNFAO
#กรมการพัฒนาชุมชน
#CDD
#SEPtoSDGs
#SDGforAll@Kmitl
#WorldSoilDayCDD
อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน และงานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี.. ภาพข่าว/รายงาน