สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 16 ส.ค. 64

สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 16 ส.ค. 64

+ ประเทศไทยยังคงมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้

+ แม่น้ำสายหลัก ภาคเหนือ และแม่น้ำโขง น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มลดลง

+ ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 40,763 ล้าน ลบ.ม. (50%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 36,008 ล้าน ลบ.ม. (50%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 11 แห่ง เฝ้าระวังน้ำมาก จำนวน 1 แห่ง (อ่างฯ นฤบดินทรจินดา)

+ กอนช. ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามนโยบายและข้อสั่งการของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ดังนี้

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อยู่ระหว่างดำเนินการโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการ เพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง ในพื้นที่ลุ่มน้ำชีล่าง-เซบาย-เซบก และลุ่มน้ำมูลตอนล่าง เพื่อจัดทำแผนบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด (จ.ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และ อุบลราชธานี) พบว่า แนวทางการผันน้ำชี-เซบาย-เซบก-ห้วยตุงลุง-แม่น้ำโขง เพื่อตัดยอดน้ำในลุ่มน้ำชีตอนล่างก่อนไหลลงไปบรรจบกับน้ำที่มาจากแม่น้ำมูลตอนบนและไหลผ่าน อ.เมืองอุบลราชธานี และ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เป็นแผนงานที่มีความเหมาะสมมากที่สุด ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน

กรมชลประทาน เร่งดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.หนองคาย เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง จ.หนองคาย และ อุดรธานีประชาชนได้รับผลประโยชน์ 29,800 ครัวเรือน โดย

– ก่อสร้างสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย

– ปรับปรุงพนังกั้นน้ำเดิม ความยาว 18.6 กิโลเมตร

– ปรับปรุงประตูระบายน้ำ (ปตร.) 3 แห่ง (ปตร.ปากโพง ปตร.หนองบุ่งแย้ และ ปตร.หนองผักไหมล่าง)

– ก่อสร้างประตูระบายน้ำ (ปตร.) 11 แห่ง และแก้มลิง 20 แห่ง