พม. กสศ. กรมสุขภาพจิต ยูนิเซฟ เปิดศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 เชื่อมโยงข้อมูลเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งประเทศ

พม. กสศ. กรมสุขภาพจิต ยูนิเซฟ เปิดศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 เชื่อมโยงข้อมูลเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งประเทศ ปูพรมพลัง อปท.และอาสาสมัคร
ค้นหาและเข้าถึงเด็กกำพร้า ไม่มีผู้ดูแล เด็กป่วยเข้าไม่ถึงการรักษา ได้รับผลกระทบทางจิตใจ ให้ได้รับการช่วยเหลือทันสถานการณ์

นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ และยูนิเซฟ ร่วมกันจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 ขึ้น เพื่อบูรณาการข้อมูลเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยเด็กกลุ่มเปราะบางที่ยังเข้าไม่ถึงการดูแลรักษา เด็กกำพร้าพ่อแม่เสียชีวิตจากโควิด เด็กที่ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ ไม่มีผู้ดูแล หรือมีแนวโน้มหลุดออกนอกระบบ เพื่อปกป้อง ช่วยเหลือได้ทันสถานการณ์ในทุกมิติปัญหา

“เรื่องนี้เป็นความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากมีเด็กได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของโควิด-19 จำนวนมาก มียอดเด็กติดเชื้อสะสมระหว่าง 1 มกราคม – 4 สิงหาคม 2564 จำนวน 65,086 คน แบ่งเป็น กทม. 15,465 คน ส่วนภูมิภาค 49,621 คน โดยจำนวนเด็กติดเชื้อรายวันล่าสุดวันที่ 4 สิงหาคม 2564 อยู่ที่ 2,194 คน แบ่งเป็น กทม. 408 คน และส่วนภูมิภาค 1,786 คน และยังมีเด็กไม่ป่วยแต่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น พ่อแม่หรือผู้ปกครองติดเชื้อ ป่วยหนักหรือเสียชีวิต ทำให้เด็กโดดเดี่ยวหรือกำพร้า เด็กที่เข้าไม่ถึงการรักษา ขาดแคลนอาหาร และหลุดออกนอกระบบ”

อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดศูนย์ฯ คือ การปรับปรุงระบบการรับแจ้งเหตุ หรือ Mobile Application คุ้มครองเด็ก เพื่อค้นหาเด็กกำพร้า หรือเด็กกลุ่มเสี่ยงกำพร้าและไม่มีผู้ดูแล ผ่านเครือข่ายคุ้มครองเด็กทั่วประเทศ การประสาน การทำงานกับหน่วยงานและเครือข่ายทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด

“กรณีเด็กที่ผู้ปกครองติดเชื้อและไม่มีผู้ดูแล จะจัดอาสาสมัครเข้าไปช่วยดูแลเด็กระหว่างการกักตัวในสถานกักตัวของรัฐ หากยังไม่มีผู้ดูแลหรือยังกลับบ้านไม่ได้ ได้จัดเตรียมสถานสงเคราะห์ 4 แห่ง รองรับได้ 160 คน เพื่อให้การดูแลชั่วคราวระหว่าง การจัดหาการดูแลในรูปแบบของครอบครัวเป็นลำดับแรก ติดตามครอบครัวเครือญาติ จัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ หรือส่งเด็กเข้ารับการดูแลในสถานรองรับเด็กของ ดย. ซึ่งรองรับได้ 1,935 คน รวมทั้งการช่วยเหลือเฉพาะหน้าและการจัดบริการสวัสดิการสังคมตามความต้องการของเด็กและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อีกด้วย” อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชนกล่าว

ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ปัญหาโควิด-19 สร้างความท้าทายต่อบริการภาครัฐ กสศ.จึงจับมือหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น ประชาสังคม เพื่อร่วมกันบริหารสถานการณ์ที่มีความซับซ้อนของปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อทำให้เราเข้าถึงเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือและได้รับการดูแลที่เหมาะสมให้เร็วที่สุด

“เรามีกลไกอาสาสมัครคุณภาพของทั้ง 4 หน่วยงานและภาคประชาสังคม ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อาสาสมัครชุมชน อาสาสมัครครูทั้งในและนอกระบบ อาสาสมัครสภาเด็กและเยาวชน กทม. โดย กสศ.ระดมความร่วมมือจากภาคเอกชน ร่วมสนับสนุนทรัพยากรที่ยังขาดแคลนและจำเป็นเร่งด่วนในสถานการณ์ที่วิกฤต และในระยะฟื้นฟู กสศ.จะสนับสนุนทุนสร้างโอกาสทางการศึกษา และโปรแกรมฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยเพื่อป้องกันเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา จากการสูญเสียผู้ดูแลและเสาหลักครอบครัวเนื่องจากโควิด-19”

ด้าน พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบกับเด็กในหลายด้าน

1. กระทบกับเด็กคือเรื่องการเรียนที่ต้องปรับมาเรียนออนไลน์เหมือนถูกตัดออกจากครูและเพื่อนขาดโอกาสในการพัฒนาอีกทั้งในส่วนของเด็กเปราะบางหรือยากจนจะยิ่งเป็นปัญหาเพราะไม่มีอุปกรณ์หรือเครื่องมือ ทำให้ตามกลุ่มอื่นไม่ทันยิ่งทำให้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

2. กระทบกับครอบครัวทำให้ตกงานเกิดสภาพยากจนเฉียบพลัน กลายเป็นความเครียดมาลงที่เด็กได้ หรือสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิตทำให้เด็กได้รับผลกระทบจากการสูญเสียคนที่รัก

3. ผลกระทบเชิงสังคม เกิดความเครียดจากสถานการณ์การแพร่ระบาด (Pandemic Stress) มีความเสี่ยงเกิดพฤติกรรมรุนแรงในครอบครัว รวมทั้งสังคมที่แสดงความโกรธเกรี้ยวเกิดเฮทสปีชที่จะทำให้เด็กซึมซับความรุนแรง

อย่างไรก็ตามผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กในเวลานี้สูงว่าเหตุการณ์สึนามิที่เคยเกิดขึ้น และมีเด็กที่ได้รับผลกระทบจากคนในครอบครัวเสียชีวิตประมาณ 5,000 คน ซึ่งในเวลานี้จำนวนเด็กที่มีคนในครอบครัวเสียชีวิตจากโควิด-19 สูงเกินกว่า 5,000 ครอบครัวและยังมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง จึงจำเป็นที่จะต้องเข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือพวกเขาให้เดินหน้าต่อไปได้ แม้ครอบครัวจะสูญเสียมากน้อยแค่ไหนก็ตาม กรมสุขภาพจิตจะเข้าไปสนับสนุนตั้งแต่การประเมินว่าเด็กรายไหนที่ต้องได้รับการดูแลเฉพาะโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเด็กทุกคนควรต้องได้รับการดูแลเบื้องต้นที่เรียกว่าปฐมพยาบาลทางใจ โดยทางสถาบันฯ พร้อมเข้าไปพัฒนาสมรรถนะทีมงานและอาสาสมัครให้สามารถปฐมพยาบาลทางใจเบื้องต้นได้ และในกรณีที่เด็กยังเหลือร่องรอยบาดแผลจากการสูญเสีย ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างมาก จำเป็นต้องได้รับการดูแลเพิ่มเติม ทางสถาบันก็จะเป็นทีมที่ประสานรับส่งต่อเด็กกลุ่มนี้เพื่อการดูแลระยะยาว

“มั่นใจในพลังของสังคมไทยที่มีน้ำใจเป็นเอกลักษณ์ ที่จะช่วยกันแจ้งเข้ามาทำให้เกิดสะพานเชื่อมระหว่างเด็กกับความช่วยเหลือ แน่นอนว่าไม่อาจทำให้ปัญหากลายเป็นศูนย์หรือหายไปได้หมด แต่เรากำลังช่วยเด็กที่มีกำลังสูญเสียไม่ให้เขาต้องเสียศูนย์ สามารถกลับมาเดินอยู่บนเส้นทางที่เขาได้รับการพัฒนาต่อไปได้ ไม่ใช่การเสียบุคคลในครอบครัวแล้วจะทำให้ต้องเสียศูนย์ไปเลย จนไม่สามาถเข้าถึงการศึกษาหรือเสียอนาคต” พญ.ดุษฎีกล่าว

นางสาวนิโคล่า บลั้น รักษาการหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟประเทศไทย กล่าวว่า ยูนิเซฟยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กในภาวะวิกฤตเช่นนี้ ซึ่งเด็กกลุ่มเปราะบางกำลังเสี่ยงต่อการสูญเสียผู้ดูแล

“เราพร้อมสนับสนุนภาครัฐและหน่วยงานอื่น ๆ ในการดำเนินงานเพื่อให้เด็กได้รับการดูแลที่เหมาะสม ทั้งนี้มาตรการช่วยเหลือเด็กใด ๆ จำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยจากการติดเชื้อควบคู่ไปกับผลกระทบด้านอื่น ๆ เช่น สุขภาพจิตของเด็กด้วย มีผลการศึกษาจำนวนมากที่สะท้อนถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากการที่เด็กต้องถูกพรากจากครอบครัว หรือต้องอยู่ในการเลี้ยงดูทดแทนที่มีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะการดูแลในรูปแบบสถาบัน เราควรดำเนินการเพื่อให้เด็กได้อยู่กับครอบครัวให้มากที่สุด พร้อมกับส่งเสริมระบบให้เด็กที่ไม่มีผู้ดูแลได้รับการเลี้ยงดูทดแทนทั้งแบบชั่วคราวและระยะยาวที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก”

ประชาชนทั่วไปสามารถแจ้งกรณีเด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สามารถประสานมาที่ศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 ที่สายด่วน 1300
………………………………………………………………….