“ปลัดแรงงาน”เผย ผลการหารือสมาคมประมงได้ข้อสรุป 14 แนวทางเป็นที่น่าพอใจ

ปลัดกระทรวงแรงงาน เผยที่ประชุมคณะทำงานปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินการให้สอดคล้องกับอนุสัญญา ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานภาคประมง ได้ข้อสรุปแนวทางแก้ไขข้อเรียกร้องชาวประมง แล้วทั้ง 14 ข้อ เสนอ รมว.แรงงาน หารือร่วมกับชาวประมง 22 จังหวัดชายทะเลอีกครั้ง 24 มกราคมนี้

เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะทำงานปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินการให้สอดคล้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานภาคประมง พ.ศ.2550 (ค.ศ.2007) เพื่อแก้ไขปัญหาความซ้ำซ้อนของกฎหมาย และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายในกิจการประมงที่มีอยู่ในปัจจุบันให้สอดคล้องกับบริบทการทำประมงในประเทศไทยและการทำประมงที่ยั่งยืน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ทุกกรมในสังกัดกระทรวงแรงงาน กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมการแพทย์ และศูนย์บัญชาการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ได้ร่วมกันพิจารณาถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาจากข้อเรียกร้องของสมาคมประมง 22 จังหวัดชายทะเล ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยที่ประชุมได้สรุปผลสาระสำคัญภายใต้กรอบอนุสัญญา C188 จำนวน 14 ประเด็น ดังนี้

1) อัตราการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน และการเรียกเงินคืนจากกองทุนฯ กรณีลูกจ้างอยู่ไม่ครบปี แนวทางแก้ไข การจ่ายเงินสมทบกองทุนฯ ของเจ้าของเรือปีละ 1 ครั้ง โดยคำนวณจากค่าจ้างที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้างทุกคนรวมทั้งปี x อัตราเงินสมทบของกิจการประมง 0.2% ซึ่งหากแรงงานประมงทำงานไม่ครบปี สามารถขอเงินสมทบฯ คืนได้ หากค่าจ้างที่จ่ายจริงน้อยกว่าที่ประเมินเรียกเก็บ

2) การเปิดโอกาสให้สามารถซื้อประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขควบคู่กับประกันของภาคเอกชน ทดแทนการเข้าอยู่ในระบบของประกันสังคม แนวทางแก้ไข ให้เข้าประกันสังคมได้ โดยจ่ายเงินสมทบรายเดือนร่วมกันระหว่างเจ้าของเรือกับแรงงาน ในอัตราร้อยละ 0.5 ของค่าจ้าง ซึ่งจะได้รับการคุ้มครอง 3 กรณี (ขาดรายได้จากการเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต) กรณีเจ็บป่วยให้ซื้อประกันสุขภาพจาก สธ.ให้ซื้อประกันสุขภาพของ สธ. ควบคู่กับประกันของเอกชนได้ แต่ต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด

3) นิยาม “เรือประมงที่ทำการประมงเพื่อการค้า” ยังไม่ชัดเจน ซึ่งเรือประมงพื้นบ้านจะต้องถูกบังคับใช้ตามกฎหมายด้วยหรือไม่ แนวทางแก้ไข ออกประกาศกรมประมงกำหนดขนาดเรือที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. …. ไม่บังคับใช้กับเรือประมงพื้นบ้าน หรือ เรือขนาดน้อยกว่า 10 GT หรือเรือที่มีการจ้างแรงงานน้อยกว่า 5 คน

4) แนวทางและประเภทเรือที่ต้องขอใบรับรองการตรวจสภาพเรือ แนวทางแก้ไข ออกประกาศกำหนดให้เรือต้องได้รับการตรวจรับรองสภาพความเป็นอยู่ในเรือประมงทุก 5 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย บังคับใช้กับเรือที่ออกทำการประมงเกิน 3 วัน และมีความยาวตลอดลำ 26.5 ม.ขึ้นไป หรือเรือที่ออกทำการประมงเกิน 3 วัน และเดินเรือเกิน 200 ไมล์ทะเล ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 209 ลำ โดยให้กรมเจ้าท่าจัดทำรายละเอียดการตรวจสภาพความเป็นอยู่ในเรือให้ชัดเจนว่ามีประเด็นอะไรที่ต้องตรวจบ้าง

5) การจัดที่พักอาศัยบนเรือประมงมีผลบังคับใช้กับเรือขนาดและประเภทใดบ้าง แนวทางแก้ไข ออกข้อบังคับกรมเจ้าท่าว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับที่พักอาศัยบนเรือประมงบังคับใช้กับ เรือต่อใหม่ 300 ตันกรอสต์ขึ้นไป หรือเรือดัดแปลงโดยการขยายขนาดตัวเรือ ซึ่งปัจจุบันเรือที่มีขนาด 300 ตันกรอสต์ขึ้นไปมีจำนวน 120 ลำ ในจำนวนนี้ออกทำการประมงอยู่ 68 ลำ

6) ความเหมาะสมเกี่ยวกับปริมาณ/คุณภาพของ อาหารและเครื่องดื่ม แนวทางแก้ไข ยกเลิกความในข้อ 16 ของกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 เกี่ยวกับอาหารและน้ำดื่ม เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับกฎกระทรวงระบบความปลอดภัย สุขอนามัยและสวัสดิภาพในการทำงานคนประจำเรือ พ.ศ. 2559 ของกรมประมง ทั้งนี้ ความเหมาะสมเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม คือ จะต้องมีปริมาณและคุณภาพที่เพียงพอ ตามสภาพ และวิถีการออกทำการประมงของไทย

7) การเปิดโอกาสให้บุคคลอายุ 16 ปีขึ้นไป ฝึกงานในเรือประมงได้ แนวทางแก้ไข แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 และประกาศคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย เพื่อขยายให้บุคคลสัญชาติไทยที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 16 ปี สามารถฝึกงานในเรือประมงได้

8) การนำเข้าแรงงานตาม MOU ใช้เวลานาน และเป็นภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้างฝ่ายเดียว ทำให้แรงงานต่างด้าวไม่มีความรับผิดชอบ มักหลบหนีไปทำงานกับนายจ้างรายใหม่ แนวทางแก้ไข บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว อย่างเคร่งครัดกำหนดแนวปฏิบัติในการป้องกันแรงงานต่างด้าวหลบหนีไปทำงานกับนายจ้างรายอื่น

9) การตรวจสุขภาพ ไม่เห็นด้วยหาก สธ. จะเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มในการตรวจสายตาและการได้ยิน พร้อมขอให้จัดทำคู่มือ/แนวปฏิบัติในการส่งต่อผู้ป่วย แนวทางแก้ไข ให้ใบรับรองแพทย์เดิมสามารถใช้ได้จนกว่าจะหมดอายุ ส่วนใบรับรองแพทย์ใหม่ให้ตรวจหูและตาเพิ่ม โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม (500 บาท เท่าเดิม)  สามารถเข้ารับการตรวจได้ทั้งใน ร.พ.ของรัฐ เอกชน หรือคลินิกที่กรมการแพทย์รับรอง (ร.พ.เอกชน/คลินิก อาจกำหนดค่าใช้จ่ายในการตรวจเอง) ใบรับรองแพทย์ฉบับนี้ สามารถนำไปใช้ประกอบการยื่นเรื่องขอรับใบอนุญาตต่าง ๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ เช่น ใบอนุญาตทำงาน/Seabook/Seaman book จัดทำคู่มือการส่งต่อผู้ป่วย เพื่อใช้ประกอบการทำงานบนเรือ

10) การนับชั่วโมงพักไม่สอดคล้องกับสภาพการทำงานบนเรือประมง โดยศูนย์ PIPO บางแห่งมีการตรวจนับชั่วโมงพักยาวติดต่อกัน 10 ชั่วโมง แนวทางแก้ไข กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 กำหนดให้เรือที่ออกทำการประมงจะต้องจัดเวลาพักขั้นต่ำ 10 ชม. ในช่วงเวลา 24 ชม. และ 77 ชม. ในช่วงเวลา 7 วัน และให้ กสร./ศปมผ. แจ้งแนวปฏิบัติ จนท. ณ ศูนย์ PIPO ให้นับเวลาพักช่วงใดก็ได้รวมกันไม่ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด ทั้งเวลาพักในทะเลและบนบก

11) ขอให้แก้ไขความซ้ำซ้อนของกฎหมายเกี่ยวกับบัญชีรายชื่อลูกเรือ แนวทางแก้ไข  ให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแก้ไขกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 โดยให้ถือรายชื่อลูกเรือตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย และระเบียบกรมเจ้าท่าว่าด้วยหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ทำการงานในเรือเป็นหลัก และกรมประมงให้ถือรายชื่อลูกเรือตามกฎหมายของกรมเจ้าท่าเป็นหลัก

12) การกำหนดอัตรากำลังตามขนาดของเรือไม่ชัดเจน และปัญหาจำนวนลูกเรือไม่ครบ ตามที่แจ้ง  Port Out ทำให้ไม่สามารถออกทำการประมงได้ แนวทางแก้ไข ให้กรมเจ้าท่าและกรมประมงร่วมกันกำหนดห้วงอัตรากำลังในเรือประมงที่เหมาะสม รวมทั้งให้ ศปมผ. พิจารณาอนุญาตให้เรือออกทำการประมงได้ ตามความจำเป็นเหมาะสม/เหตุสุดวิสัย ในกรณีที่จำนวนแรงงานประมงไม่ครบตามที่แจ้ง Port Outออนไลน์ ก่อนออกทำการประมงอย่างน้อย 1 ชม.

13) เงื่อนไขการส่งตัวแรงงานกลับประเทศต้นทาง นายจ้างไม่ควรต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะกรณีที่ลูกจ้างเป็นฝ่ายผิด แนวทางแก้ไข กรณีที่แรงงานประมงเป็นฝ่ายผิดสัญญา หรือยกเลิกสัญญาเอง หรือไม่มีเหตุอันควร หรือนายจ้างไม่ได้เป็นฝ่ายผิด แรงงานประมงต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการส่งกลับ และ

14) ปัญหาการจ่ายค่าจ้างผ่านบัญชีธนาคาร/ตู้ ATM สร้างภาระให้กับนายจ้าง/ลูกจ้าง เสนอให้แก้ไขกฎหมายให้สามารถจ่ายเป็นเงินสดและจ่ายค่าจ้างล่วงหน้าได้

แนวทางแก้ไข ให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานไปพิจารณาเสนอแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 ม.76 ให้เป็นคุณกับแรงงานและผู้ประกอบการกิจการประมง

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะนำข้อสรุปดังกล่าวนำเรียน รมว.แรงงาน และจะมีกำหนดจัดประชุมหารือร่วมกับชาวประมง 22 จังหวัดชายทะเลอีกครั้งในวันที่ 24 มกราคมนี้

——————————–

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/ณัฐฏภัทร์ ชื่นเอี่ยม – ภาพ