“อว.”จับมือ “TPBS” ร่วมส่งต่อคลังความรู้สู่ประชาชน “ดร.เอนก” มั่นใจจะเกิดมิติใหม่แห่งการเรียนรู้นอกโรงเรียน

วันที่ 4 สิงหาคม 2564 : ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมแสดงความยินดีและเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กับองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) โดยมี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงฯ เป็นผู้ลงนาม พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมเป็นเกียรติ ได้แก่ ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีและโฆษกกระทรวง ดร.พัชรินรุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรี ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ กรรมการผู่ช่วยรัฐมนตรี รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความร่วมมือในครั้งนี้เพื่อนำผลงานด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของ อว. สื่อสารผ่านสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ตลอดระยะเวลา 3 ปีต่อจากนี้ สร้างมิติใหม่ในการเรียนรู้นอกโรงเรียนแก่ประชาชน สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนไทย ซึ่งจัดขึ้นผ่านระบบออนไลน์ ณ ห้องแถลงข่าว อาคารพระจอมเกล้า สป.อว. (ถนนโยธี) และที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

ดร.เอนก กล่าวว่า เป็นความน่ายินดีที่ความร่วมมือในครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ในระยะเวลาต่อจากนี้คือ ก้าวแรกของการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง ทั้งสองฝ่ายต้องประสานงานอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอตั้งแต่ระดับเชิงนโยบายหรือตัวผู้บริหารเอง เพื่อความเข้าใจตรงกันของรูปแบบข้อมูล การนำเสนอและวิธีการสื่อสาร ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นต้องมีเหตุและผล ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนและประเทศชาติในระยะกลางและระยะยาว เพราะปัจจุบันความสำเร็จในระยะแรกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้รวดเร็วและได้รับความสนใจเป็นทุนเดิมจากสื่ออยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะเกิดผลในระยะกลางและระยะยาวย่อมต้องใช้เวลา จึงต้องร่วมแรงร่วมใจกันหาวิธีการและรูปแบบการสื่อสารให้น่าสนใจมากขึ้นในอนาคต

“อว. มีหน่วยงานในสังกัดและสถาบันอุดมศึกษามากมาย เป็นคลังความรู้และขุมทรัพย์ทางปัญญาของชาติ มีหน่วยงานด้านวิจัยและนวัตกรรม 16 แห่ง และมี อพวช. ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ดีที่สุดอันดับต้นๆ ของเอเชีย เพียงแต่การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์อาจยังไม่มากพอหรือยังเข้าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างจริงจัง ซึ่ง TPBS จะเข้ามาช่วยเสริมในจุดนี้ อว. ต้องการที่จะเผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยต่างๆ และความรู้ด้านประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ โลกคดีศึกษา คือสิ่งที่อยากให้อยู่คู่กับคนไทยต่อไป อยากให้มีการศึกษาค้นคว้าในเรื่องนี้ควบคู่ไปกับการผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น ตนหวังว่าความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายจะทำให้ศักยภาพการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น กระจายสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง เป็นแหล่งขุมทรัพย์ทางปัญญา และนี่คือมิติใหม่แห่งการเรียนรู้นอกโรงเรียนอย่างแท้จริง” ดร.เอนก กล่าวตอนท้าย

ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อว. มีพันธกิจหลักในการผลิตบุคลากร การสร้างงานวิจัยและค้นคว้าในศาสตร์ทุกๆ ด้าน มีหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยมากมายที่มีผลงานระดับชาติ พร้อมเผยแพร่สู่สาธารณชน ตนได้เห็นว่าในอดีต อว. ได้มีการร่วมงานกับ TPBS มาแล้ว อาทิ รายการเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ของ สวทช. รายการสารคดีต่างๆ ด้านงานวิจัยและนวัตกรรม อยากให้ในอนาคตมีการนำเสนองานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และโลกคดีศึกษามากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อว. มั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าด้วยความร่วมมือนี้จะสร้าง Plat Form ใหม่ ให้เกิดขึ้นสู่สาธาณชน เป็นช่องทางใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการสื่อสารประเด็นต่างๆ เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นหรือเป็นวาระแห่งชาติ เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 การใช้ชีวิตในยุค New Normal และเรื่องงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์บนพื้นฐานความเป็นไทยเพื่ออนุรักษ์และสืบสานต่อไป จะร่วมมือกันเป็นสื่อกลางแห่งการสื่อสารเรื่องราวดีๆ ในอนาคต.