พ่อเมืองกรุงเก่า ขอชื่นชมและให้กำลังใจการตั้งโรงพยาบาลสนามของบริษัท ดีซี เซอร์วิส เซ็นเตอร์ (โฮมโปร) เพื่อดูแลพนักงานผู้ติดเชื้อโควิด พร้อมเชิญชวนสถานประกอบการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในโรงงาน

วันที่ 3 สิงหาคม 2564 เวลา 11.00 น. นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 3 นายนครินทร์ อาจหาญ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นพ.สุนทร โรจน์สุริยาวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวังน้อย สาธารณสุขอำเภอวังน้อย องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปเยี่ยมชมโรงพยาบาลสนามของบริษัท ดีซี เซอร์วิส เซ็นเตอร์ โดยมี นายชัยยุทธ กรัณยโสภณ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชม สำหรับ รพ.สนามแห่งนี้ สามารถรองรับผู้ติดเชื้อโควิดที่มีอาการไม่รุนแรง(สีเขียว) ได้จำนวน 200 เตียง และสามารถขยายได้ถึง 400 เตียง ขณะนี้ผู้ติดเชื้อเป็นพนักงานของบริษัทเข้ารับการรักษาแล้ว จำนวน 66 คน โดยการดูแลของทีมแพทย์และพยาบาลโรงพยาบาลราชธานี

นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า วันนี้ได้มาเยี่ยมชมโรงพยาบาลสนามของบริษัท ดีซี เซอร์วิส เซ็นเตอร์ (โฮมโปร) เนื่องจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีโรงงานอุตสาหกรรม จำนวนกว่า 2,700 โรงงาน มีพนักงานกว่า 320,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ซึ่งปีนี้พบผู้ติดเชื้อในภาคอุตสาหกรรมจำนวนมาก แพร่กระจายสู่ชุมชนและครอบครัว และพบว่าแผนการจัดการของบริษัทยังมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค คณะกรรมการควบคุมโรค จึงมีความจำเป็นต้องสั่งปิดกิจการเป็นการชั่วคราวไปแล้วกว่า 20 โรงงาน เพื่อให้ฝ่ายบริหารของบริษัทได้จัดทำแผนควบคุมตามมาตรการของสาธารณสุขในการขอเปิดดำเนินการ

ทั้งนี้ การปิดบริษัทนั้นจะเป็นเครื่องมือสุดท้ายที่คณะกรรมการควบคุมโรคจะเลือกใช้ เพราะมีผลกระทบในวงกว้างในหลายด้าน เช่น พนักงานขาดรายได้ และสถานประกอบการเองกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งกิจการหลาย ๆ อย่างในจังหวัดเชื่อมโยงกับกิจการส่วนอื่น มีกระทบเป็นลูกโซ่ ทั้งนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จึงได้ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการ เพื่อวางมาตรการร่วมกันและออกเป็นประกาศ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 ซึ่งเป็นมาตรการก่อนเกิดเหตุเชิงป้องกันและลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค และได้นำแนวคิดที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้เผยแพร่ออกมาใช้ คือ บับเบิล แอนด์ ซีล เป็นมาตรการเชิงป้องกันซึ่งสถานประกอบการถ้ามีการศึกษาทบทวนและเตรียมการที่รัดกุม ก็จะสามารถแยกแยะพนักงานที่มีความเสี่ยงสูง ต่ำออกมาได้ชัดเจน และบริหารบุคลากรที่มีความเสี่ยงต่ำ สามารถทำงานต่อไปได้ ถึงแม้จะไม่ 100% แต่ไม่ทำให้กิจการต้องหยุดชะงักลงไป

ซึ่งวันนี้ต้องขอชื่นชมและให้กำลังใจ บริษัท ดีซี เซอร์วิส เซ็นเตอร์ ที่ได้ดูแลพนักงานที่ติดเชื้อแล้ว โดยจับมือกับโรงพยาบาลราชธานี ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ดูแลผู้ติดเชื้อได้ถึง 200 เตียง ถือเป็นเครื่องมือช่วยที่ดี และขอขอบคุณที่เป็นตัวช่วยทางราชการอีกทางหนึ่ง เนื่องจากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในจังหวัดมีจำนวนมาก ทำให้เตียงของโรงพยาบาลสนามของรัฐ เอกชน และ Hospitel อยู่ในภาวะเตียงตึงตัว ซึ่งเราต้องนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่กระบวนการ Home Isolation กว่า 7,000 ราย และ Community Isolation อีกจำนวนหนึ่ง ดังนั้น การที่ผู้ประกอบการได้เลือกการทำโรงพยาบาลสนามในบริษัท จึงเป็นเครื่องมือช่วยที่ดี อีกทั้งเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงานและเชื่อมั่นต่อองค์กร เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการทำงานให้กับบริษัทต่อไป

ข่าว : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เว็บไซต์ https://ayutthaya.prd.go.th