“ตรีนุช” มอบ ก.ค.ศ. สร้างกลไกใหม่รับฟังเสียงสะท้อนจากเด็ก ครู และผู้ปกครองทั่วประเทศ ในช่วงสถานการณ์โควิด

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงศึกษา ได้มอบนโยบายและวางแผนกับทุกส่วนราชการในเรื่องของการจัดการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยการสอนแบบ 5 On (Online/On Air/On Demand/On Hand/On Site) นั้น ตนเห็นว่าเด็กนักเรียน และครูได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนรูปแบบดังกล่าวมาสักระยะแล้ว ยังไม่ได้รับข้อมูลจากบริบทของแต่ละพื้นที่ว่าเกิดปัญหาและอุปสรรคที่ชัดเจน ตนเองมีความกังวลและมีความห่วงใยในการดำเนินการดังกล่าวเป็นอย่างมาก เพราะมีสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการที่มีบริบทที่แตกต่างกันเป็นจำนวนมาก จึงต้องการรับฟังความคิดเห็นจากนักเรียน ครู และผู้ปกครองในแต่ละพื้นที่เพื่อสะท้อนปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลต่อการจัดการเรียนการสอนมายังกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อที่กระทรวงศึกษาธิการจะได้รับทราบ แก้ไขปัญหา และปรับนโยบายได้เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น จึงได้มีการประชุมหารือกันถึงแนวทางในการได้มาถึงข้อมูลที่จะนำมาสู่การแก้ไขปัญหา และได้มอบหมายให้ รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. ได้หาแนวทางและวิธีการดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลและการประเมินแบบเร่งด่วนภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ได้รับทราบข้อมูลว่าได้วางแผนและวางระบบวิธีการเก็บข้อมูลจากนักเรียน ครู และผู้ปกครองจากพื้นที่ต่าง ๆ ในทุกภูมิภาคของประเทศ ผ่านกลไกใหม่ที่เรียกว่าการประเมินแบบเร่งด่วน ซึ่งเป็นวิธีการที่นานาชาติใช้กัน และเป็นวิธีการที่จะสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้อย่างรวดเร็วจากสภาพความเป็นจริงและเชื่อถือได้ โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 4 แห่ง คือ คณะวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา, ภาควิชาวิจัยและพัฒนาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และข้าราชการครูที่มีความรู้ความสามารถด้านวิชาการ ซึ่งจะกระจายพื้นที่ทั่วประเทศ ภายใต้โครงการ “อาสาสมัครครูนักประเมิน”(Rapid Appraisal Volunteer : RAV) ซึ่งผู้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครเข้าร่วมเป็น RAV Team ในครั้งนี้คือ ครู ผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือศึกษานิเทศก์ ที่มีพื้นฐานการวิจัยและประเมิน (จบ ป.โท – ป.เอก) จะเป็นผู้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลจากโรงเรียน หรือพื้นที่ต่าง ๆ และประเมินผลแบบเร่งด่วน ส่งผลกลับมายังส่วนกลาง เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปได้อย่างรวดเร็ว โดยโครงการนี้ได้เปิดรับผู้ที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการประมาณ 250 คน ซึ่งทราบว่าขณะได้มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการเต็มจำนวนดังกล่าวแล้ว ภายในระยะเวลา 1 วัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีและก็รู้สึกดีใจที่มีผู้ที่เห็นความสำคัญและได้อาสามาช่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งหลังจากนี้สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้กำหนดให้มีการจัดการประชุมชี้แจงแนวทางและวิธีการดำเนินงานให้กับอาสาสมัครดังกล่าว ในวันที่ 5 สิงหาคม 2564 ที่จะถึงนี้ ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งตนเองก็จะเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย

นางสาวตรีนุช ได้กล่าวในตอนท้ายว่า หลังจากที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับข้อมูลดังกล่าวมาแล้ว ก็จะเร่งดำเนินการวางแนวทางปรับปรุงนโยบายในการพัฒนา การบริหารจัดการการเรียนการสอน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคของการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียน ครู รวมถึงผู้ปกครองได้คลายความกังวลและคลายความเครียดที่ต้องเผชิญกับสภาวะการณ์เช่นนี้ และในฐานะที่ตนเองเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็พร้อมที่จะช่วยเหลือ ดูแล และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้ดีที่สุด