คณะกรรมการโรคติดต่ออยุธยา พิจารณามาตรการเร่งด่วนตาม ศบค. พร้อมแก้ปัญหาการนำผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ระบบการรักษา HI/CI เพิ่มช่องทางให้คำปรึกษาด้านการแพทย์

คณะกรรมการโรคติดต่ออยุธยา พิจารณามาตรการเร่งด่วนตาม ศบค. พร้อมแก้ปัญหาการนำผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ระบบการรักษา HI/CI เพิ่มช่องทางให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ ตั้งแต่ 08.00-16.00 น. และความช่วยเหลือทาง Call Center หมายเลข 0 3532 1456 ตลอด 24 ชม.

วันที่ 2 สิงหาคม 64 นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ครั้งที่ 38/2564 ผ่านระบบ Zoom จากห้องประชุมอโยธยา ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปยังทุกอำเภอ และได้รับเกียรติจาก นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล สส.พระนครศรีอยุธยา เขต 3 มาร่วมประชุมครั้งนี้ โดยมี นายประทีป การมิตรี ปลัดจังหวัด พันเอก(พ) เพิ่มศักดิ์ ขุนโขลน รอง ผอ.รมน.จว. นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายก อบจ. นพ.พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และคณะกรรมการฯ เข้าร่วมประชุม พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล สาธารณสุขอำเภอ ตัวแทนภาคธุรกิจเอกชน และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ Zoom เพื่อติดตามและกำหนดมาตรการบริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งพิจารณามาตรการเร่งด่วนให้สอดรับตามข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ฉบับที่ 30 และคำสั่ง ศบค. ที่ 11/2564 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเร่งรัดแก้ปัญหากระบวนการนำผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ระบบการรักษา Home/Community Isolation ให้รวดเร็วขึ้น

โดยที่ประชุมได้ติดตามสถานการณ์การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิดภายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และคลัสเตอร์ภายในเรือนจำจังหวัด และทัณฑสถานบำบัดพิเศษ พบผู้ต้องขังคิดเขื้อโควิด-19 ร่วม 1,362 คน มีเจ้าหน้าที่ติดเชื้อ 9 ราย ทั้งนี้ คณะกรรมการควบคุมโรค มอบให้ทางเรือนจำดำเนินการนำผู้ต้องขังตรวจพบเชื้อแยกกักห้องแยกกักโรคในแดน B เจ้าหน้าที่ให้ทำ HI ที่บ้านพัก ทำ Bubble เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานและ SEAL ผู้ต้องขังทุกแดนงดการเคลื่อนย้าย ประสาน รพศ. พระนครศรีอยุธยา และ รพ.กลางราชทัณฑ์ ขอรับการสนับสนุนยา Favipiravir ให้แก่ผู้ต้องขังสีเหลือง และประสานจัดหาฟ้าทะลายโจรให้กับผู้ต้องขังทุกรายตามนโยบายกรมราชทัณฑ์ ประสาน สคร. 4 ในการตรวจเอกซเรย์ปอดผู้ต้องขังทุกราย ด้วยรถเอกซเรย์พระราชทาน จัดตั้งโรงพยาบาลสนามในเรือนจำจังหวัด รองรับผู้ป่วย จำนวน 300 เตียง จัดตั้ง DATA Center ในเรือนจำเพื่อเชื่อมโยงข้อมูล และบันทึกข้อมูลผู้ป่วยประสานข้อมูลกับโรงพยาบาลแม่ข่าย (รพศ.พระนครศรีอยุธยา) เพื่อควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดไปในวงกว้าง โดยให้ทางเรือนจำและทัณฑสถาน จัดส่งข้อมูลความคืบหน้าให้กับคณะกรรมการโรคติดต่อทราบอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแผนมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ในการขอเปิดดำเนินการของบริษัท ไทยโพรเกรส การ์เมนต์ จำกัด คณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบให้ปิดต่ออีก 7 วัน ตั้งแต่ 4 – 10 กรกฎาคม 2564 เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อ 312 รวม และยังดำเนินการตามแผนการควบคุมโรคไม่เรียบร้อย รวมทั้งเห็นชอบให้ปิดบริษัทผลิตชิ้นส่วนโลหะความละเอียดสูง สำหรับรถยนต์ เป็นเวลา 7 วัน เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อ จำนวน 275 คน คิดเป็นร้อยละ 52.18 ของจำนวนพนักงานทั้งหมด 527 คน เพื่อจัดทำแผนเสนอขอเปิดดำเนินการต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดต่อไป

นอกจากนี้ ที่คณะกรรมการฯ ยังได้พิจารณาเร่งรัดแก้ปัญหากระบวนการนำผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ระบบการรักษา Home/Community Isolation ซึ่งหากผู้ติดเชื้อมีผลตรวจพบเชื้อ และสมัครใจเข้ารับการรักษาในระบบ Home/Community Isolation ให้นำเข้าได้เลย และค่อยตรวจ RT-PCR ในภายหลัง ซึ่งจะทำให้ผู้ติดเชื้อได้เข้าสู่ระบบการรักษาได้รวดเร็วขึ้น ทั้งนี้ จังหวัดจะจัดทำประกาศให้สถานพยาบาลทุกแห่งปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน อีกทั้ง เพิ่มช่องทางการให้บริการประชาชน ปรึกษาด้านการแพทย์ โดยมีแพทย์ พยาบาล ให้คำปรึกษา ตั้งแต่ 08.00-16.00 น. ของทุกวัน และติดต่อสอบถามและขอความช่วยเหลือ ตลอด 24 ชั่วโมง ทาง Call Center หมายเลขโทรศัพท์ 0 3532 1456

จากสถานการณ์โรคโควิด-19 พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จังหวัดจึงได้เร่งจัดตั้ง รพ.สนาม อ.ลาดบัวหลวง และ รพ.สนาม อ.ท่าเรือ เพื่อให้บริการประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว อีกทั้ง ดำเนินการเพิ่มศักยภาพ รพ.สนาม มทร.สุวรรณภูมิ (หันตรา) เพื่อดูแลผู้ป่วยที่ on Favipiravir ผู้ป่วยที่ให้ยา Dexa และผู้ป่วยที่ on Oxygen Canular และ Mask/bag ได้

ในส่วนการกระจายวัคซีนซิโนฟาร์ม ชุดแรก จำนวน 34,340 คน ได้จัดสรรให้กับอำเภอทั้ง 16 อำเภอ และหน่วยงาน องค์กร กลุ่มฯ ตามที่ขอมา โดยพิจารณาให้กับอำเภอที่มีการแพร่ระบาดสูงสุด อาทิ อำเภอบางปะอิน 6,982 คน อำเภอพระนครศรีอยุธยา จำนวน 6,378 คน อำเภอวังน้อย จำนวน 3,663 คน อำเภออุทัย จำนวน 2,358 คน เป็นต้น นอกจากนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดฯ ยังได้รับการประสานจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ฯ จะจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มเพิ่มเติม จำนวน 115,660 คน ( 221,320 โด๊ส) ซึ่ง อบจ. สามารถดำเนินการจัดหาวัคซีนดังกล่าวได้ เพื่อป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ข่าว : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา