แถลงการณ์กลุ่มอาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอให้ยกเลิกการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและการทำงานของสื่อมวลชน

แถลงการณ์กลุ่มอาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอให้ยกเลิกการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและการทำงานของสื่อมวลชน

นับตั้งแต่มีการประกาศข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 27 ข้อ 11 (ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2564) และ ฉบับที่ 29 (ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2564) อันมีใจความสำคัญไม่ให้ประชาชนและสื่อมวลชนได้แสดงความคิดเห็นที่อยู่บนฐานของข้อเท็จจริงอย่างชัดเจน

ดังนั้น เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพในการสื่อสารอันเป็นพื้นฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตย คณาจารย์ดังรายชื่อแนบท้าย ขอแถลงดังนี้

ประการที่หนึ่ง ข้อกำหนดดังกล่าวปรากฏเจตนาชัดว่ารัฐบาลต้องการควบคุมการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและการทำงานของสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ผ่านการกำหนดโทษสำหรับการส่งต่อ ‘ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว’ ซึ่งการกำหนดให้การกระทำเหล่านี้มีความผิด เป็นการตีความถ้อยคำอย่างกว้าง กำกวม ไม่ชัดเจน และเปิดโอกาสให้การพิจารณานั้นอาศัยเพียงดุลยพินิจของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐมากเกินสมควร จนอาจกล่าวได้ว่าเมื่อไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าการกระทำใดบ้างที่เข้าข่ายการกระทำผิดตามข้อกำหนด รัฐบาลก็สามารถชี้ว่าการเผยแพร่ข้อมูลใดเป็นการสร้างความหวาดกลัว และใช้อำนาจในการลงโทษผู้เผยแพร่ข้อมูลเหล่านั้นโดยทันที

ประการที่สอง การออกข้อกำหนดเช่นนี้ย่อมขัดต่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ขัดต่อหลักสากลอันว่าด้วยสิทธิมนุษยชนด้านเสรีภาพในการแสดงออก และขัดต่อหลักการทำงานโดยอิสระของสื่อมวลชนอย่างชัดแจ้ง อีกทั้งเป็นการใช้กฎหมายและบทลงโทษมาลิดรอน บีบบังคับ รวมถึงจำกัดการทำงานของสื่อมวลชนมากเกินสมควร โดยไม่ได้มุ่งคุ้มครองสาธารณประโยชน์แต่อย่างใด

ประการที่สาม ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาดที่ยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง การตรวจสอบ แสวงหาข้อเท็จจริง และเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขผู้เจ็บป่วย ผู้เสียชีวิต ปัญหาการบริหารจัดการ หรือปัญหาด้านการรักษาพยาบาล ถือเป็นภารกิจที่จำเป็นอย่างยิ่งของสื่อมวลชน แม้ข้อเท็จจริงเหล่านั้นอาจทำให้เกิดความหวาดกลัวในสังคม แต่ก็เป็นไปเพื่อให้สังคมได้รับทราบข้อมูลอย่างรอบด้าน อันจะนำไปสู่การร่วมกันหาทางออกในภาวะวิกฤติ และขับเคลื่อนสังคมบนฐานของข้อมูลข่าวสารจริงที่ได้รับการคัดกรองแล้ว

ประการที่สี่ หากรัฐบาลมีข้อกังวลเรื่องการส่งต่อข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ (Fake News) ในช่วงวิกฤตินี้ ขอเรียกร้องให้มีการบังคับใช้ข้อกฎหมายเท่าที่มีอยู่ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ในส่วนของการดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท ฯลฯ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมว่ารัฐบาลศรัทธาในความเที่ยงธรรมของระบบตุลาการโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาข้อกำหนดเพิ่มเติมแต่อย่างใด

ประการที่ห้า นอกจากความจำเป็นของรัฐบาลในการสร้างหลักประกันการทำงานโดยอิสระ ปราศจากอำนาจบีบบังคับสื่อมวลชนแล้ว ในภาวะเช่นนี้ นับเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อให้แก่ประชาชน ผ่านการมอบอำนาจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อมูลและออกแถลงข้อเท็จจริงเพื่อตอบโต้ข้อมูลเท็จ รวมถึงสนับสนุนให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการรับฟังข่าวสารเพื่อยกระดับการรู้เท่าทันสื่อในระบอบประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพในการสื่อสาร ข้อเท็จจริงย่อมทนทานต่อการตรวจสอบขัดเกลาเสมอ ทว่าความพยายามของรัฐบาลในการปิดกั้นข้อมูลด้วยการข่มขู่ผ่านกฎหมายและบทลงโทษมีค่าเท่ากับขัดขวางสาธารณะในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ดังนั้น ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกข้อกำหนดฉบับที่ 27 (ข้อ 11) และ ฉบับที่ 29 โดยทันที

ด้วยความสมานฉันท์
วันที่ 1 สิงหาคม 2564

รายนามคณาจารย์แนบท้าย
กานตชาติ​เรืองรัตนอัมพร
กุลนารี ​​เสือโรจน์
คันธิรา ​​ฉายาวงศ์
จักรวาล ​​นิลธำรงค์
ดวงแก้ว ​​เธียรสวัสดิ์กิจ
ถมทอง ​​ทองนอก
นันทพร ​​วงษ์เชษฐา
นิธิดา ​​แสงสิงแก้ว
บัณฑูร ​​พานแก้ว
ประไพพิศ ​มุทิตาเจริญ
ปิยะพงษ์ ​อิงไธสง
พรชัย ​​ฉันต์วิเศษลักษณ์
พรทิพย์ ​​สัมปัตตะวนิช
พรรณวดี ​ประยงค์
พรรษา ​​รอดอาตม์
พีรยุทธ ​​โอรพันธ์
มนต์ศักดิ์​ ​ชัยวีระเดช
รุจน์ ​​โกมลบุตร
วารี ​​ฉัตรอุดมผล
วิไลวรรณ ​จงวิไลเกษม
ศิริมิตร ​​ประพันธ์ธุรกิจ
สมบัติ ​​ปิยะบูรณ์
อนงค์นาฏ ​รัศมีเวียงชัย
อัจฉรา ​​ปัณฑรานุวงศ์
อัญรินทร์ ​อมรอิสริยาชัย
อารดา ​​ครุจิต
อุรุพงศ์ ​​รักษาสัตย์
เอกพล ​​เธียรถาวร