“กรมเจรจาฯ” เผยปี 2562 เดินหน้าเปิดประตูการค้า เชื่อมโยงภูมิภาค สร้างความเข้มแข็งในประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ พร้อมผลักดันการค้าไทยเติบโตก้าวไกลในปีหมูทอง เปิดแผนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศปี 2562 มุ่งเน้นการขยายความร่วมมือทางการค้าในรูปแบบหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ เชื่อมโยงเศรษฐกิจของอาเซียนและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศให้พร้อมสำหรับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจในภูมิภาคและเดินหน้าสู่เวทีการค้าโลก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยแผนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศของไทยปี 2562 ขานรับนโยบายรัฐบาลมุ่งเน้นเปิดประตูการค้าและพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศคู่ค้าในลักษณะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic partnership) รวมถึงสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอาเซียน ความเชื่อมโยงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจในภูมิภาคและเวทีการค้าโลก โดยในปี2562 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศมีแผนงานสำคัญ ดังนี้

  1. แผนงานด้านการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

– การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมและประธานการประชุมด้านเศรษฐกิจของอาเซียน สืบเนื่องจากที่ไทยได้รับไม้ต่อการเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบให้เป็นหน่วยประสานงานหลักในด้านเศรษฐกิจ จะรับผิดชอบจัดการประชุมด้านเศรษฐกิจของอาเซียน 9 ครั้ง ในปี 2562 อาทิ การประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งเป็นการประชุมระดับรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน การประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน เป็นต้น

นอกจากภารกิจการจัดประชุมอาเซียนแล้ว ไทยในฐานะประธานอาเซียนปี 2562 ได้ประกาศแนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” (Advancing Partnership for Sustainability) และได้นำเสนอ 12 ประเด็นภายใต้แนวคิดนี้ เพื่อให้สมาชิกอาเซียนร่วมกันขับเคลื่อนให้ประสบความสำเร็จในปี 2562 เช่น การเตรียมความพร้อมอาเซียนรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียนให้ครบ 10 ประเทศ และการส่งเสริมความร่วมมือในอาเซียนเพื่อการประมงที่ยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งในฐานะประธานอาเซียน ไทยจะมีบทบาทนำในการโน้มน้าวผลักดันให้สมาชิกอาเซียนที่เหลือช่วยกันดำเนินการขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ให้ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าไว้

– ผลักดันให้การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP หาข้อสรุปได้ในปี 2562 ตามที่ผู้นำสมาชิก RCEP 16 ประเทศตั้งเป้าไว้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงสุดท้ายของการเจรจาแล้ว ไทยในฐานะประธานอาเซียน จึงมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้การเจรจาปิดรอบได้ในปี 2562 โดย RCEP ถือเป็นกลุ่มภูมิภาคที่มีความสำคัญเนื่องจากมี GDP รวมกันกว่า 25.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 31 ของโลก มีประชากรกว่า 3,560 ล้านคน มูลค่าการค้ารวมสูงถึง 10.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 29 ของการค้าโลก

– เร่งสรุปการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีที่ไทยอยู่ระหว่างเจรจา ให้หาข้อสรุปและปิดรอบได้ภายในปี 2563 คือ การเจรจาเอฟทีเอไทย-ตุรกี ไทย-ศรีลังกา และไทย-ปากีสถาน

– เตรียมการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ซึ่งมีสมาชิก 11 ประเทศ ที่มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน มี GDP รวมมูลค่า 10.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือเป็นร้อยละ 13.3 ของ GDP โลก มีมูลค่าการค้ารวมกับไทย 134.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 3 ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก

– เตรียมการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป และ ไทย-เอฟตา (EFTA) หากผู้ที่เกี่ยวข้องของทั้งไทย สหภาพยุโรปหรือเอฟตามีความพร้อม

– มีส่วนร่วมในการเสนอแนวคิดและดำเนินการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อให้การทำงานของ WTO  เช่น การปรับปรุงความโปร่งใส การปรับปรุงกลไกการระงับข้อพิพาททางการค้าที่อาจหยุดชะงักลงเพราะตำแหน่งว่างในองค์กรอุทธรณ์เดินหน้าต่อไปได้                                                          

– ประชุมหารือทวิภาคีและส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศคู่ค้า เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และขยายมูลค่าการค้าการลงทุนให้บรรลุเป้าหมาย เช่น จีน ขยายมูลค่าการค้าจาก 70,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบันเป็น 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564  กัมพูชา ขยายมูลค่าการค้าจากประมาณ 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบันเป็น 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563  และ สปป.ลาว ขยายมูลค่าการค้าจากประมาณ 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบันเป็น 11,800 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564  เป็นต้น

– เจรจาแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าที่เกิดขึ้น เช่น หาทางออกในกรณีการตรวจเข้มรถยนต์นำเข้าจากเวียดนาม เป็นต้น

  1. แผนงานด้านการสร้างความรู้และเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดตลาดการค้าเสรี

บูรณาการร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่อง FTA ประโยชน์และผลกระทบของ FTA ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้อง ดังนี้

– จัดสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องโอกาสของการค้าเสรีให้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น สงขลา นราธิวาส ยะลา ปัตตานี ลงพื้นที่แนะนำผู้ประกอบการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สามารถขยายตลาดและการส่งออกสู่ต่างประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงเอฟทีเอของไทย

– ร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติจัดสัมมนาฝึกอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพเกษตรกรไทยในยุคการค้าเสรี โดยมีแผนลงพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ เช่น ปราจีนบุรี สินค้าสมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ พิษณุโลก สินค้ามะม่วง กล้วย และกาแฟ สงขลา สินค้ามังคุด เงาะ ลองกอง และผลไม้อบแห้ง ศรีสะเกษ สินค้าทุเรียน เงาะ และสมุนไพร และแม่ฮ่องสอน สินค้า ชา กาแฟ สมุนไพร ธัญพืช เป็นต้น

– จัดสัมมนาร่วมกับสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ให้กับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องแสวงประโยชน์จากการค้าเสรีและความตกลงเอฟทีเอของไทยกับประเทศต่างๆ

– จัดประกวด DTN Business Plan Award 2019 “เขียนแผนธุรกิจ เพื่อบุกตลาดจีนด้วยเอฟทีเอ”

– ร่วมมือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ พัฒนาผู้นำสหกรณ์ เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์จากการค้าเสรี

– ร่วมมือกับกรมปศุสัตว์และชุมนุมสหกรณ์โคนม จัดทัพผู้ประกอบการและเกษตรกรโคนม บุกตลาดโลกด้วยเอฟทีเอ และนำนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทยตลอดห่วงโซ่การผลิต ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

– จัดประชุมสัมมนา รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมการหากไทยจะเข้าร่วมความตกลง CPTPP

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีความตกลงการค้าเสรี 12 ฉบับกับ 17 ประเทศ เช่น อาเซียน ญี่ปุ่น จีน อินเดีย เกาหลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น และในปี 2562 ความตกลงการค้าเสรี อาเซียน-ฮ่องกง จะมีผลใช้บังคับ โดยประเทศคู่เอฟทีเอที่ไทยมีมูลค่าการค้าสูงสุด 5 อันดับแรกในช่วง 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) ของปี 2561 คือ (1) อาเซียน มูลค่าการค้า 105.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกหลักของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกล (2) จีน มูลค่าการค้า 73.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกหลักของไทย เช่น เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และยางพารา (3) ญี่ปุ่น มูลค่าการค้า 55.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกหลักของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกล และ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ (4) ออสเตรเลีย มูลค่าการค้า 15.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อาหารทะเลกระป๋อง และผลิตภัณฑ์ยาง (5) เกาหลี มูลค่าการค้า 12.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกของไทย เช่น ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องคอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น