สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) (Electronic Transactions Development Agency) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เตรียมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น (Hearing) ต่อ “ร่างข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ว่าด้วยระบบการลงคะแนนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Voting System)” ในกลุ่มประชาชนทั่วไปที่สนใจ ทางออนไลน์ วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 นี้
นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า การปลดล็อคข้อกำจัดของการประชุมทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) ให้สามารถประชุมได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่มีข้อจำกัด ด้วยระบบที่มีความมั่นคงปลอดภัย น่าเชื่อถือเกิดความเชื่อมั่นในการใช้งาน และที่สำคัญสามารถลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voting) ได้และกฎหมายรองรับ ทำให้การทำงานทำงานที่บ้าน (Work Form Home) ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 (COVID-19) มีความสะดวก ทำงานได้ไม่สะดุด เพื่อให้องค์กร โดยเฉพาะหน่วยงานที่ต้องมีการประชุมผู้ถือหุ้นสามารถไปต่อได้นั้น เป็นหนึ่งภารกิจสำคัญที่ ETDA เร่งขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการร่วมผลักดัน พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 กฎหมายกลางที่รองรับการประชุมออนไลน์ ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563
เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดกระบวนการที่สำคัญของการจัดประชุมและมาตรฐานการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในเรื่องลับ และล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้ประกาศข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ว่าด้วยการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประชุม เลขที่ ขมธอ. 26-2564 ซึ่งแนวปฏิบัติในการจัดการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voting) ได้อย่างเหมาะสมกับรูปแบบการประชุม และล่าสุด ETDA ได้มีการ “ร่างข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ว่าด้วยระบบการลงคะแนนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Voting System)” นี้ขึ้น เพื่อเป็นแนวปฏิบัติแก่ผู้ให้บริการระบบ e-Voting ในการพัฒนาและการออกระบบ ทั้งด้านฟังก์ชันที่สามารถใช้งานได้ครบถ้วนและมีความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจแก่ผู้ใช้งาน สอดคล้องกับ พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 ที่ระบุใจความหนึ่งว่า ผู้มีหน้าที่จัดการประชุมต้องจัดให้ผู้ร่วมประชุมสามารถลงคะแนนได้ ทั้งในรูปแบบเปิดเผยและลับ ผ่านระบบที่มีความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง
โดย สาระสำคัญของ ร่างข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ว่าด้วยระบบการลงคะแนนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Voting System) ฉบับนี้ มีเนื้อหารายละเอียดที่ครอบคลุมตั้งแต่ บทนิยาม ตลอดจนข้อกำหนดของระบบการลงคะแนน ทั้งหมด 15 หมวด แบ่งเป็น ข้อกำหนดเกี่ยวกับฟังก์ชันการทำงาน 6 หมวด ได้แก่ การออกแบบระบบ การพัฒนาระบบ เรื่องความโปร่งใส การเข้าถึงอย่างเท่าเทียมของผู้ลงคะแนนการลงคะแนนตรงตามเจตนาของผู้ลงคะแนน และการใช้งาน และข้อกำหนดเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ 9 หมวด ได้แก่ การทำงานร่วมกัน การตรวจสอบ ความเป็นส่วนตัวของผู้ลงคะแนน ความลับของคะแนนเสียง การควบคุมการเข้าถึง ความมั่นคงปลอดภัยทางกายภาพ การคุ้มครองข้อมูล การรักษาความครบถ้วนของระบบการลงคะแนนและการตรวจจับและการเฝ้าระวัง เป็นต้น
โดยร่างข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ดังกล่าว สามารถใช้ได้กับระบบการลงคะแนนในการประชุม e-Meeting หรือการลงคะแนนที่ไม่มีการประชุม e-Meeting หรือการลงคะแนนในรูปแบบเปิดเผย ที่สามารถระบุตัวตนและเจตนาของผู้ลงคะแนนได้ หรือการลงคะแนนลับ ที่ทราบเฉพาะจำนวนและผลรวมของคะแนน โดยไม่ระบุตัวตนของผู้ลงคะแนน แต่จะไม่ครอบคลุม การเลือกตั้งระดับชาติ การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น และการออกเสียงประชามติ ที่ดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ที่ดำเนินการโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
ทั้งนี้ ETDA ได้ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงร่าง เปิดรับฟังความคิดเห็น รวมถึงข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมามาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็ได้เปิดรับฟังความเห็นเป็นการทั่วไปทางออนไลน์ ที่เว็บไซต์ https://standard.etda.or.th/?p=12395 จนถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2564 นี้ และเพื่อให้การรับฟังความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ มีความสมบูรณ์และสร้างความเข้าใจต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในวงกว้างมากขึ้น ETDA จึงจัดประชุม รับฟังความเห็น (Hearing) ต่อร่างข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ว่าด้วยระบบการลงคะแนนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในวันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม 2564 เวลา 15.00-17.00 น. ผ่านโปรแกรม Microsoft Teams Meeting ซึ่งผู้ที่สนใจเข้าร่วมสามารถลงทะเบียนร่วมงาน ได้ที่ bit.ly/3kNe693 ภายในวันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม 2564 โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่อีเมล: estandard.center@etda.or.th หรือติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ เฟซบุ๊ก ETDA Thailand