แพทย์ชนบทบุกกรุงเทพฯ ตรวจโควิดเชิงรุกชุมชนผู้มีรายได้น้อย ด้าน พอช.หนุนชาวบ้าน 31 เมือง 332 ชุมชนแก้ผลกระทบจากโควิด

พอช./ แพทย์ชนบทหลายจังหวัดระดมพลบุกกรุงเทพฯ ตรวจโควิดเชิงรุกชุมชนผู้มีรายได้น้อยกว่า 30 ชุมชน โดยในวันนี้ตรวจโควิดที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เขตบางกะปิ มีชาวบ้านจากเครือข่ายสลัม 4 ภาคและชาวชุมชนใกล้เคียงประมาณ 800 คนเข้าตรว ขณะที่ พอช.หนุนชุมชนผู้มีรายได้น้อย 31 เมือง 332 ชุมชนสู้ภัยโควิด-19 จัดกิจกรรม 107 แผนงานเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน เช่น เตรียมจุดพักคอยประสานการตรวจเชื้อ-ฉีดวัคซีนแก้ไขปัญหาปากท้องจำหน่ายอาหารและสินค้าจำเป็นราคาถูกช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง  ฯลฯ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลชมรมแพทย์ชนบทร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เครือข่ายประชาชน เครือข่ายสลัม 4 ภาค มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพ.ศ.) ได้ร่วมกันสนับสนุนการตรวจหาเชื้อโควิดเชิงรุกให้แก่ชุมชนผู้มีรายได้น้อยในเขตกรุงเทพฯ ประมาณ 30 ชุมชน ตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา

แพทย์ชนบทตั้งจุดตรวจโควิดเชิงรุกที่ พอช.และอีก 30 ชุมชนในกรุงเทพฯ

ล่าสุดวันนี้ (21 กรกฎาคม) ทีมแพทย์ชนบทจากจังหวัดสุโขทัยจำนวน 12 คน  และอาสาสมัครจากหน่วยงานต่างๆ ได้จัดตั้งจุดบริการตรวจหาเชื้อโควิดที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  มีชาวบ้านจากเครือข่ายสลัม 4 ภาคจากชุมชนต่างๆ  เจ้าหน้าที่ พอช. และชาวชุมชนใกล้เคียงจำนวนมากเดินทางมาตรวจตั้งแต่เวลา 8.00-16.00 น. โดยมี นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ในฐานะที่ปรึกษาชมรมแพทย์ชนบทเดินทางมาให้กำลังใจทีมงานและให้ความรู้เพื่อป้องกันโรคโควิดแก่ผู้มาตรวจเชื้อด้วย

นางสาวนพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) กล่าวว่า วันนี้ชมรมแพทย์ชนบทจากจังหวัดสุโขทัยได้มาตั้งจุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่ พอช. โดยมีชาวบ้านจากเครือข่ายสลัม 4 ภาคและเครือข่ายของ พอช. ประมาณ 800 คนตรวจหาเชื้อในวันนี้ถือเป็นการตรวจเชิงรุก และอำนวยความสะดวกให้แก่ชาวชุมชนที่ยังไม่ได้รับการตรวจ  และนอกจากการตรวจที่ พอช.แล้ว ในวันนี้ทีมแพทย์ชนบทยังเข้าไปตรวจเชิงรุกในชุมชนผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ อีกประมาณ 10 ชุมชนด้วย

โดยทีมแพทย์ชนบทจะตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยชุดตรวจแอนติเจน เทสท์ คิท (Antigen Test Kit) เพื่อให้สามารถตรวจได้จำนวนมาก รู้ผลได้ภายในเวลาประมาณ 30 นาที หากพบว่าผู้ตรวจรายใดติดเชื้อ ทีมแพทย์จะทำการตรวจซ้ำเพื่อให้ได้ผลที่แน่นอน หากพบว่าติดเชื้อจริง ทีมแพทย์จะให้คำแนะนำเพื่อให้ผู้ติดเชื้อกลับไปรักษาตัวที่บ้าน หรือสถานที่พักคอยในชุมชน (Home isolation และ Community Isolation)

“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในขณะนี้  ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกกลุ่ม  โดยเฉพาะคนจน  คนที่มีรายได้น้อย  มีจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงวัคซีน  ดังนั้นเครือข่ายภาคประชาชนจึงมีข้อเสนอดังนี้ 1.ขอให้รัฐบาลเร่งจัดสรรวัคซีนเพื่อฉีดให้ประชาชนทุกคนได้ทั่วถึงและเท่าเทียมกัน   2.ระบบการดูแลผู้ที่ติดเชื้อที่บ้านและในชุมชนยังมีอุปสรรคจากกฎระเบียบต่างๆ ของหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น  ทำให้การจัดตั้งศูนย์พักคอยในชุมชนล่าช้า  ไม่ทันสถานการณ์  และ 3.ขอให้รัฐจัดระบบสวัสดิการให้แก่ประชาชนในรูปแบบของ ‘รัฐสวัสดิการ’ ไม่ใช่การช่วยเหลือเฉพาะหน้า  หรือช่วยเหลือเป็นครั้งๆ ตามสิทธิของพลเมืองไทย  ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้”  เลขาธิการ มพ.ศ.กล่า

ทั้งนี้ชมรมแพทย์ชนบทที่เข้ามาตรวจโควิดเชิงรุกให้ชาวชุมชนผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ ครั้งนี้ประกอบด้วยทีมแพทย์จากนครศรีธรรมราช, ขอนแก่น,  รพ.จะนะ, รพ.สมเด็จพระบรมราชินีนาถ  อำเภอนาทวี จ.สงขลา, รพ.ตากใบ จ.นราธิวาส, รพ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี, รพ.บ่อเกลือ จ.น่าน, ทีมแพทย์จาก จ.สุโขทัย  ฯลฯ  รวมทั้งหมดประมาณ 100 คน  ตั้งเป้าจะตรวจโควิดเชิงรุกได้ไม่ต่ำกว่า 30,000 คนภายในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้

อย่างไรก็ตาม  การตรวจคัดกรองโควิดที่ พอช.  นอกจากจะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ดังกล่าวไปแล้ว  ยังมีภาคเอกชน  โดยบริษัท​เออร์บันคลีนซินเนอร์จีมาช่วยสนับสนุนการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อหลังการตรวจหาเชื้อในวันนี้ด้วย

‘พอช.’ หนุนชุมชนผู้มีรายได้น้อย 31 เมือง 332 ชุมชนสู้ภัยโควิด-19                                   

นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า  ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่นี้  ประชาชนผู้มีรายได้น้อยในเขตแพร่ระบาดสูงสุดจะได้รับผลกระทบมากที่สุด  โดยเฉพาะชาวชุมชนแออัด  ชาวชุมเมืองที่มีรายได้น้อยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล   เช่น  ผลกระทบทางด้านสุขภาพอนามัย  เพราะที่อยู่อาศัยมีความคับแคบ  ประชากรหนาแน่น  โอกาสการแพร่เชื้อติดต่อกันจึงมีมาก  และที่สำคัญคือ  ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ  เรื่องปากท้อง  เพราะขาดรายได้  ตกงาน  ไม่มีเงินเลี้ยงดูครอบครัว

“กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จึงมีแนวทางการช่วยเหลือและสนับสนุนชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด ในพื้นที่ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างเร่งด่วน โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้ใช้กลไกต่างๆ ที่ชุมชนมีการจัดตั้งอยู่แล้ว เช่น เครือข่ายบ้านมั่นคง  สภาองค์กรชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน ฯลฯ เป็นเครื่องมือสนับสนุนให้ชุมชนมีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากสถานการณ์โควิด  ได้รวมกลุ่มกันจัดทำแผนงานและกิจกรรมต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยคณะกรรมการสถาบันฯ ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อสนับสนุนชุมชนจำนวน 30 ล้านบาท” นายสมชาติ ผอ.พอช. กล่าว

นายสมชาติบอกว่า พอช.ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 30 ล้านบาทเพื่อจัดทำ โครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เป้าหมายเพื่อให้เครือข่ายชุมชนในระดับเมือง (ในกรุงเทพฯ คือระดับเขต) และชุมชนผู้มีรายได้น้อย  ได้จัดทำแผนงานการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อโรค การเตรียมจัดทำสถานที่พักคอย  ลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ  ส่งเสริมอาชีพรายได้ ฯลฯ โดยเครือข่ายชุมชนฯ และชุมชนได้เสนอโครงการมาที่ พอช. และ พอช.ได้อนุมัติโครงการเพื่อสนับสนุนชุมชนดำเนินการไปแล้ว (ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 จนถึง 20 กรกฎาคม) รวม 31 เมือง 332 ชุมชน กลุ่มเป้าหมายรวม 67,978 ครัวเรือน (จากทั้งหมด 1,113 ชุมชน)

ส่วนงบประมาณสนับสนุน  แบ่งเป็น

1.เมืองใหญ่ (เกิน 20 ชุมชน) พื้นที่สีแดงมีชาวชุมชนต้องกักตัวเกิน 81 คนขึ้นไป  สนับสนุนงบประมาณ 150,000 บาท

2.พื้นที่สีแดงอ่อน  กักตัวระหว่าง 31-80 คน  สนับสนุนงบฯ 100,000 บาท

3.พื้นที่สีเหลือง  กักตัวไม่เกิน  30 คน สนับสนุนงบฯ 80,000 บาท  และสนับสนุนในระดับชุมชนไม่เกินชุมชนละ 50,000 บาท รวมงบที่ พอช.อนุมัติแล้วทั้งหมดประมาณ 12 ล้านบาท)

ทั้งนี้พื้นที่ 31 เมือง  332 ชุมชนที่เสนอโครงการและผ่านการอนุมัติแล้ว รวม 107 แผนงาน/กิจกรรม แบ่งเป็น

1.ศูนย์พักคอยเตรียมส่ง รพ. 22 %

2.อบรมอาชีพ 19 %

3.จำหน่ายอาหาร ข้าวสาร สินค้าจำเป็น  ราคาทุน 14 %

4.แจกอาหาร  ข้าวสาร ให้ผู้กักตัว  กลุ่มเปราะบาง 13 %

5.เชื่อมโยงเครือข่ายการทำงาน (เช่น สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข อบต. รพ.สต. สปสช.) 13 %

6.ศูนย์ประชาสัมพันธ์ รับบริจาค รวบรวมข้อมูล ประสานงานการตรวจและลงทะเบียนฉีดวัคซีน หา รพ.

7.ครัวกลาง 6 %  ทำอาหารแจกหรือขายราคาถูก  (อิ่มละ10- 20 บาท) คนลำบากกินฟรี เพื่อลดการออกไปนอกชุมชนลดโอกาสเสี่ยงที่จะรับหรือแพร่เชื้อ ฯลฯ

ส่วนชุมชนที่จัดทำโครงการ เช่น เมืองบางบอน (สภาองค์กรชุมชนเขตบางบอนกรุงเทพฯ) รวม 34 ชุมชน จัดทำโครงการป้องกันการแพร่เชื้อ เช่น ติดตั้งเครื่องสแกนอุณหภูมิวัดไข้ในชุมชน จำหน่ายอาหาร  ข้าวสาร สิ่งของจำเป็นในราคาถูกให้แก่ชาวชุมชน แจกอาหารฟรีให้ผู้กักตัว กลุ่มเปราะบาง ฯลฯ สภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง 22 ชุมชน มีกิจกรรม ตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง มอบอาหารให้ผู้กักตัว เตรียมพื้นที่พักคอย สร้างแหล่งอาหาร ปลูกผักในพื้นที่ 1 ไร่ เลี้ยงปลาดุก 6 บ่อ ฯลฯ

ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลของชุมชนเครือข่ายที่เสนอโครงการมายัง พอช. จำนวน 332 ชุมชน  ล่าสุดเมื่อวันที่  20 กรกฎาคม 2564 พบว่า มีผู้สูงอายุ รวม 24,473 คน ผู้พิการติดเตียง รวม 11,610 คน ผู้สูงอายุ +พิการ รวม 3,735 คน เด็กเล็ก 0-5 ปี รวม 9,886 คน ผู้ติดเชื้อ รวม 4,078 คน ผู้กักตัว รวม 8,148 คน ผู้ได้รับผลกระทบด้านอาชีพรายได้ รวม 17,959 คน ชุมชนติดเชื้อสะสม จำนวน 421 ชุมชน ผู้ติดเชื้อสะสม จำนวน 3,551 คน เสียชีวิต รวม 59 คน

*****************