กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สปสช. และ สพฉ.จัดระบบรับส่งผู้ป่วยโควิด 19 อาการสีเขียวเดินทางกลับภูมิลำเนาอย่างปลอดภัย ลดเสี่ยงแพร่เชื้อ ไม่มีค่าใช้จ่าย แนะติดต่อผ่านสายด่วน 1330 กด 15 หรือทางเว็บไซต์ ใช้เวลาประสานโรงพยาบาลปลายทางภายใน 3 วัน พร้อมจัดพาหนะรับส่งทั้งรถบัส รถทัวร์ รถไฟ และเครื่องบิน
มีทีมบุคลากรทางการแพทย์ติดตามดูแลตลอดทาง
วันที่ 24 กรกฎาคม 2564 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ทันตแพทย์อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และเรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แถลงข่าวการจัดบริการรับส่งผู้ป่วยโควิด 19 กลับภูมิลำเนาอย่างปลอดภัย
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลจากมาตรการล็อกดาวน์ทำให้มีผู้ลงทะเบียนขอเดินทางกลับภูมิลำเนาผ่านระบบ ศบค.ในเดือนกรกฎาคม 504,241 คน (ข้อมูลวันที่ 19 – 22 กรกฎาคม) ซึ่งในจำนวนนี้อาจมีผู้ติดเชื้อเดินทางกลับไปด้วย ขณะที่การระบาดระลอกใหม่มีรายงานผู้ติดเชื้อจากกทม.และปริมณฑลเดินทางกลับต่างจังหวัดแล้ว 31,175 คน ส่วนใหญ่เป็นอาการสีเขียว ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงต้องการให้ผู้ติดเชื้อโควิดที่จะเดินทางกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนามีความปลอดภัย ไม่แพร่กระจายเชื้อระหว่างการเดินทาง จึงมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับ สปสช. สพฉ. กระทรวงคมนาคม และกระทรวงกลาโหม จัดระบบการดูแลรับส่งผู้ติดเชื้อโควิดกลับภูมิลำเนาอย่างปลอดภัยโดยผู้ติดเชื้อที่ประสงค์จะเดินทางกลับภูมิลำเนา ให้ติดต่อสายด่วน สปสช.หรือผ่านระบบออนไลน์
เพื่อรวบรวมข้อมูลให้กระทรวงสาธารณสุขประสานโรงพยาบาลจังหวัดปลายทางเตรียมความพร้อมรองรับ รวมทั้งประสานกับ สพฉ.เตรียมยานพาหนะประเภทต่างๆ นำส่งภูมิลำเนาด้วยความปลอดภัย คาดว่าใช้เวลาประสานไม่เกิน 3 วันสามารถเดินทางได้ โดยดูแลทั้งเรื่องอาหาร น้ำดื่ม และสุขภาพตลอดการเดินทาง ทั้งนี้ระหว่างการรอ
ผู้ติดเชื้อต้องดูแลป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นและหากมีอาการรุนแรงขึ้นให้ประสานสายด่วน 1330 และ 1668 ส่วนผู้ที่ไม่ติดเชื้อและต้องการกลับภูมิลำเนา เมื่อเดินทางไปแล้วขอให้รายงานตัวกับทางจังหวัด
ด้านทันตแพทย์อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อที่ต้องการกลับภูมิลำเนาสามารถติดต่อได้ทางสายด่วน สปสช. 1330 กด 15 ซึ่งกำลังเพิ่มเป็น 2,100 คู่สาย หรือติดต่อทางเว็บไซต์ https://crmdci.nhso.go.th/ หรือการสแกนคิวอาร์โคด ซึ่งแสดงผ่านสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ โดย สปสช.จะส่งให้กระทรวงสาธารณสุขทุกวันในช่วงเวลา 08.00 น. ด้านเรืออากาศเอก นายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาต้องอยู่ในเกณฑ์อาการสีเขียว หากอาการรุนแรงจะส่งรถฉุกเฉินรับไปส่งโรงพยาบาลที่เหมาะสมแทน สำหรับพาหนะในการส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนาร่วมมือกับกระทรวงคมนาคม จัดเตรียมรถไฟ รถบขส. และรถตู้ไว้บริการ ประสานกรมการขนส่งทหารบก กรมแพทย์ทหารบก จัดรถขนาดใหญ่หรือเครื่องบิน โดยผู้ที่จะเดินทางกลับโดยเครื่องบินต้องผ่านการประเมินสุขภาพว่าพร้อมสำหรับการเดินทาง (Fit to Fly) นอกจากนี้ มีการจัดบุคลากรทางการแพทย์ ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ดูแลตลอดการเดินทางโดยรถบัส รถทัวร์ จะมีรถพยาบาลฉุกเฉินตามไปด้วย ส่วนรถไฟและเครื่องบินจะมีบุคลากรทางการแพทย์ติดตามเพื่อดูแลหากมีเหตุฉุกเฉิน
“สพฉ.จะจัดยานพาหนะไว้ 3 ช่วง คือ ช่วงแรกเป็นการไปรับส่งผู้ป่วยจากบ้านมายังสถานีรถไฟ บขส. หรือเครื่องบิน เนื่องจาก กทม.มีการใช้รถรับส่งผู้ป่วยจำนวนมาก ช่วงที่สองคือยานพาหนะที่รับส่งระยะยาว คือ รถบัส รถไฟ เครื่องบิน เป็นต้น และช่วงที่สาม คือ การรับส่งที่จังหวัดปลายทาง โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือโรงพยาบาลจะจัดรถมารับ ทั้งนี้ อยากให้ผู้ติดเชื้อที่ต้องการเดินทางกลับใช้ระบบบริการที่รัฐจัดให้ เนื่องจากมีความปลอดภัยและไม่มีค่าใช้จ่าย” เรืออากาศเอก นายแพทย์อัจฉริยะกล่าว
********************************* 24 กรกฎาคม 2564