ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเกี่ยวกับขั้นตอนการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี โดยระบุว่า กรมบังคับคดีนำทรัพย์ออกขาย 6 ครั้ง ในระยะห่าง 20 วันต่อครั้ง ครั้งที่ 1 ขายตามราคาประเมินและลดหลั่นมาถึงครั้งที่ 3 เหลือ 50 % จนครั้งที่ 4 ไม่มีใครสู้ราคาก็ยกเลิกขาย ถ้าต้องการขายทอดตลาดอีก เจ้าหนี้ ก็ยื่นคำร้องต่อกรมบังคับคดีเพื่อประกาศขายใหม่ และหากไม่มีคนเข้าสู้ราคา ก็จะนำออกขายทอดตลาดต่ำกว่าราคาประเมิน 50 % ซึ่งเจ้าหนี้จะเข้ามาซื้อเอง และหากยังได้รับชำระหนี้ไม่ครบถ้วน เจ้าหนี้ก็จะตามสืบทรัพย์สินยึดต่อจนกว่าจะได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาครบถ้วน นั้น
นางอรัญญา ทองน้ำตะโก อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยว่า การขายทอดตลาดของกรมบังคับคดีเป็นขั้นตอนหนึ่งของการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา ซึ่งการขายทอดตลาดทรัพย์ในคดีแพ่งนั้น กรมบังคับคดีจะกำหนดการขายทอดตลาดจำนวน ๖ นัด ในการออกประกาศขายแต่ละฉบับ ซึ่งแต่ละนัดมีระยะเวลาห่างกัน ๓ สัปดาห์ โดยในการขายทอดตลาดครั้งแรก กรมบังคับคดีจะใช้ราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดี เจ้าพนักงานประเมินราคาทรัพย์ หรือคณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์แล้วแต่กรณีเป็นราคาเริ่มต้นในการขายทอดตลาดก่อน แต่หากไม่มีผู้สนใจเข้าสู้ราคา ในการขายทอดตลาดครั้งที่ ๒ จะกำหนดราคาเริ่มต้นเป็นจำนวนร้อยละ ๙๐ ของราคาประเมินในครั้งแรก และในการขายทอดตลาดครั้งที่ ๓ จะกำหนดราคาเริ่มต้นเป็นจำนวนร้อยละ ๘๐ ของราคาประเมินในครั้งแรก จนกระทั่งในการขายทอดตลาดครั้งที่ ๔ จะกำหนดราคาเริ่มต้นเป็นจำนวนร้อยละ ๗๐ ของราคาประเมินในครั้งแรก และจะใช้ราคาเริ่มต้นจำนวนร้อยละ ๗๐ นี้เป็นราคาเริ่มต้นในการขายทอดตลาดไปจนกว่าจะขายทอดตลาดทรัพย์ได้ การขายทอดตลาดจะต้องทำการขายให้ครบตามที่กำหนดไว้ในประกาศ เว้นแต่มีเหตุตามกฎหมายให้งดการขาย ซึ่งกรมบังคับคดีก็จะประกาศแจ้งเหตุงดการขายนั้นให้ผู้สนใจเข้าสู้ราคาได้ทราบเช่นกัน และกรมบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดให้แก่บุคคลทั่วไปได้ทราบ โดยติดประกาศขายทอดตลาดตามสถานที่ราชการและลงประกาศลงในเว็บไซต์เพื่อให้บุคคลทั่วไปที่สนใจสามารถเข้าซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดได้
นอกจากนี้กรมบังคับคดีได้ลงข้อมูลบริการต่าง ๆ ทั้งในส่วนของกฎหมาย กฎ ระเบียบ คำสั่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขายทอดตลาด รวมถึงคู่มือขั้นตอนการบังคับคดี คู่มือผู้ซื้อทรัพย์ขายทอดตลาด คู่มือกฎหมายประชาชน เป็นต้น เพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถสืบค้นและทำความเข้าใจได้อย่างง่ายในเว็บไซต์กรมบังคับคดีแล้ว และแม้คดีจะอยู่ระหว่างขั้นตอนการบังคับคดีไม่ว่าจะเป็นชั้นการยึด หรือขายทอดตลาดก็ตาม ลูกหนี้สามารถยื่นขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดีได้ตลอดเวลา ซึ่งหากเจ้าหนี้และลูกหนี้สามารถเจรจาตกลงเงื่อนไขการชำระหนี้กันได้ และมีการชำระหนี้ครบตามข้อตกลงก็จะไม่ต้องขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดไว้แต่อย่างใด
กรมบังคับคดี ๐ ๒๘๘๑ ๔๙๙๙ หรือสายด่วนกรมบังคับคดี ๑๑๑๑ กด ๗๙ เว็บไซต์กรมบังคับคดี www.led.go.th