พส. ผุดโครงการ “พัฒนาทักษะผู้ปฏิบัติงานด้านพัฒนาสังคม” เตรียมบุคลากรพร้อมรับมือให้เท่าทันในทุกสถานการณ์

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) จัดโครงการพัฒนาทักษะผู้ปฏิบัติงานตามสายงานพัฒนาสังคม และการวางแผนปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันผ่านระบบ Teleconference เพื่อเพิ่มพูนทักษะสำหรับการปฏิบัติงานของบุคลากรด้านพัฒนาสังคม ให้สอดคล้องกับสถานการณ์สังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทัน โดยมีผู้เข้าอบรมเป็นผู้ปฏิบัติงานด้านพัฒนาสังคม จำนวน 131 คนเข้ารับการอบรมระหว่างวันที่ 19 – 20 และ 22 กรกฎาคม 2564

นายโชคชัย วิเชียรชัยยะ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เปิดเผยว่า การพัฒนาทักษะ และกรอบความคิดแก่บุคลากรภาครัฐเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ซึ่ง “ผู้ปฏิบัติงานด้านพัฒนาสังคม” เปรียบเสมือนฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนภารกิจของกรมฯ ให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ “กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐาน พัฒนาสู่การพึ่งพาตนเอง”

นายโชคชัย กล่าวต่อว่า ในปัจจุบัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นับว่าเป็นสถานการณ์ที่สร้างผลกระทบต่อสังคมอย่างรวดเร็ว ซึ่งการแพร่ระบาดเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ประชาชนได้รับผลกระทบที่รุนแรงและเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กลุ่มคนเปราะบาง” ที่เป็นคนไร้บ้าน และคนไร้ที่พึ่ง มักเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากกว่า ต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ดังนั้น “ผู้ปฏิบัติงานด้านพัฒนาสังคม” จึงต้องยกระดับ พัฒนาความรู้ ทักษะ และกรอบความคิดของตนเอง รวมถึงสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้ และพร้อมที่จะเป็นพลังสำคัญในการช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนร่วมกับภาคีเครือข่ายให้ได้อย่างทั่วถึง

ขณะเดียวกัน แม้ว่าสถานการณ์ของโควิด-19 จะทำให้การปฏิบัติงานไม่สามารถดำเนินการตามแผนได้เต็มรูปแบบเช่นเดิม แต่บุคลากรต้องมีความพร้อมอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ผู้ปฏิบัติงานด้านพัฒนาสังคม ต้องนำความรู้ (Hard Skills)และทักษะ (Soft Skills) ที่ได้รับไปปรับใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กรและประชาชน โดยไม่ละทิ้งเรื่องคุณธรรมจริยธรรม การป้องกันการทุจริต และให้ความสำคัญกับการบูรณาการ สร้างเครือข่าย พันธมิตรกับผู้ที่มีส่วนได้เสีย ประชาชน และผู้รับบริการ

นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพผู้ปฏิบัติงานควรใช้ 4 กรอบความคิดมาปฏิบัติ ได้แก่

1) กรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) ค้นหาโอกาสเรียนรู้จากวิกฤติ และข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น

2) กรอบความคิดแบบมุ่งเน้นส่วนรวม (Outward Mindset) ทำงานด้วยจิตสาธารณะเป็นที่ตั้ง มุ่งเน้นการทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและผู้รับบริการเป็นสำคัญ

3) กรอบความคิดแบบสากล (Global Mindset) สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น
จากการมองเห็นโอกาส ทำงานภายใต้ความหลากหลายของวัฒนธรรม และตามสถานการณ์ได้ และ

4) กรอบความคิดในการทำงานยุคดิจิทัล (Digital Mindset) สามารถมองเห็นโอกาสในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการปฏิบัติทำงานได้อย่างเหมาะสม นายโชคชัย กล่าวตอนท้าย