กรมปศุสัตว์ยกระดับทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ป้องกันลัมปี สกิน ระบาดในกระทิง วัวแดง และควายป่า มั่นใจไม่แพร่สู่สัตว์ป่า

วันที่ 21 ก.ค. 2564 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากการที่เกิดการระบาดของโรคลัมปี สกินใน โค กระบือ ในหลายจังหวัดของประเทศและมีความกังวลของหลายฝ่ายว่าจะแพร่ระบาดเข้าไปยังพื้นที่รักษาพันธุ์สัตวป่าห้วยขาแข้งที่นอกจากจะมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างหลากหลายแล้ว หนึ่งในนั้นก็มีสัตว์สำคัญอาศัยอยู่ด้วยนั่นก็คือ ควายป่า นั้น

“สำหรับสัตว์ป่าในบ้านเราที่ติดเชื้อและแสดงอาการของโรคลัมปี สกินได้ จะเป็นสัตว์ในกลุ่มพวก กระทิง วัวแดง ควายป่า เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากติดเชื้อและเป็นโรค จะแสดงอาการเพียงเล็กน้อย ไม่แสดงอาการรุนแรง และเปอร์เซ็นต์การตายน้อยกว่า โค-กระบือของชาวบ้าน เนื่องจากสัตว์ป่ามีความแข็งแรงและทนต่อโรคต่างๆได้ดีกว่า”

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามต้องมีการเฝ้าระวังและป้องกันอย่างเต็มที่ ดังนั้นเพื่อป้องกันล่วงหน้า ไม่ให้โรคแพร่ระบาดไปสู่ควายป่า ที่ห้วยขาแข้งจึงได้ดำเนินการงดการเคลื่อนย้ายโค-กระบือในพื้นที่ พร้อมทั้งได้ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน ให้กับโค-กระบือของเกษตรกรในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ตามรอยต่อของป่าเขตกันชนเขตรักษาพันธุ์สัตวป่าห้วยขาแข้งในรัศมี 5 กิโลเมตรจำนวน 95 ราย แบ่งเป็นโคจำนวน 1,160 ตัว และกระบือจำนวน 95 ตัว รวมทั้งสิ้น 1,255 ตัว พร้อมทั้งพ่นสารกำจัดแมลงบริเวณคอกเลี้ยงโค-กระบือและบริเวณโดยรอบ พร้อมทั้งให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องโรค และการป้องกันอีกด้วย นอกจากนี้ ได้ประสานให้ผู้ใหญ่บ้านประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจไม่ให้นำโค-กระบือเข้าไปเลี้ยงในพื้นที่ใกล้เคียงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอีกด้วย

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ยกระดับมาตรการการป้องกันโรคลัมปี สกิน ไม่ให้ติดต่อไปยังสัตว์ป่า โดยจะเข้าดำเนินการในพื้นที่รอบเขตอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และวนอุทยานทุกแห่งที่มีสัตว์ป่ากลุ่มเสี่ยงได้แก่ กระทิง วัวแดง ควายป่า อาศัยอยู่ดังนี้

1.เร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน ในโค-กระบือในพื้นที่ 5 กิโลเมตรจากชายขอบเขตของ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และวนอุทยาน

2.ขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการควบคุมและกำจัดแมลงพาหะของโรค ในพื้นที่ 5 กิโลเมตรจากชายขอบเขตของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และวนอุทยานที่ใกล้แหล่งเลี้ยงโค-กระบือ โดยใช้ยาพ่นฆ่าแมลงในพื้นที่ที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์พาหะ และฉีดพ่นบนตัวโค-กระบือ เช่น คอกเลี้ยงสัตว์ แหล่งที่มีน้ำขัง เป็นต้น