กรมปศุสัตว์ยืนยัน มั่นใจ ไก่ไทยไร้โควิด

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึง กรณีที่มีสื่อรายงาน พบพนักงานฝ่ายผลิตในโรงงานชำแหละไก่แห่งหนึ่งในจังหวัดพัทลุงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น กรมปศุสัตว์ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีหน้าที่กำกับดูแลด้าน ความปลอดภัยอาหาร โดยเฉพาะสินค้าปศุสัตว์ ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น โดยกรมปศุสัตว์ได้มีมาตรการป้องกันโรคโควิดในโรงงาน และตรวจสอบประสิทธิภาพในการควบคุมความปลอดภัยอาหารอย่างเข้มงวดโดยมุ่งเน้น 3 ด้าน ได้แก่

1) ด้านพนักงาน หรือผู้ที่ต้องสัมผัสอาหาร จะมีการเฝ้าระวังสุขภาพของตนเองและต้องผ่านการตรวจโรคโควิด-19 ก่อนเข้าปฏิบัติงาน

2) ด้านสถานที่ผลิต ให้รักษาความสะอาดเรียบร้อยตามหลักสุขลักษณะที่ดีในการผลิต (GMP) โดยมีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช่ในการผลิตด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อในไลน์การผลิต

3) มาตรการที่สามเกี่ยวกับสินค้า ให้ตรวจสอบประสิทธิภาพในการควบคุมความปลอดภัยอาหารอย่างเข้มงวด ที่สำคัญมีการเก็บตัวอย่างตรวจการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสินค้า อุปกรณ์ สิ่งแวดล้อม จุดสัมผัสและจุดเสี่ยงในอาคารผลิต เพื่อประกันการปลอดเชื้อ

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ประจำโรงงานดำเนินการร่วมกับโรงงานทำการสอบสวนและสั่งกักตัวพนักงานรายอื่นที่มีความใกล้ชิดกับพนักงานผู้ติดเชื้อ และกำกับดูแลให้โรงงานทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในทุกพื้นที่ของโรงงานอย่างทั่วถึง รวมถึงกำชับให้บุคลากรของโรงงานปฏิบัติตามมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้ระงับการการผลิตชั่วคราวเพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคแล้ว โดยหน่วยงานทางสาธารณสุขจังหวัดพัทลุงจะทำการประเมินสถานการณ์ในการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่โรงงานก่อนพิจารณาให้กลับมาทำการผลิตอีกครั้ง สำหรับสินค้าที่ถูกผลิตในช่วงเวลาที่พบผู้ติดเชื้อ เจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ได้สุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าเพื่อตรวจวิเคราะห์หาเชื้อไวรัส COVID-19 ทุกวันผลิต หากพบสินค้าที่มีความเสี่ยงหรือปนเปื้อนเชื้อไวรัส COVID-19 กรมปศุสัตว์จะไม่อนุญาตให้จำหน่ายหรือส่งออกเนื้อไก่ดิบ ดังนั้น จึงขอให้มั่นใจว่าเนื้อไก่มีความปลอดภัยไม่ปนเปื้อนเชื้อ COVID-19 อย่างแน่นอน

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจในสินค้าปศุสัตว์และลดความวิตกกังวลของประชาชนในการบริโภคเนื้อไก่ว่าอาจะติดเชื้อโควิดจากการบริโภคเนื้อไก่ได้นั้น ขอให้ข้อมูลว่าองค์การอนามัยโลก (WHO), องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO), และหน่วยงานด้านอาหารทางสหภาพยุโรป (EFSA) และสหรัฐอเมริกา (USFDA) ต่างยืนยันว่าอาหารไม่ใช่แหล่งแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 และในกรณีที่เนื้อสัตว์ปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 จากผู้ป่วยก็มีโอกาสน้อยมากที่จะทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคได้ อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมปศุสัตว์ แนะนำให้ประชาชนรับประทานเนื้อสัตว์ปรุงสุก เพราะเชื้อไวรัสโควิด-19 ถูกทำลายได้ด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 56 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที และถ้าความร้อนสูงขึ้นระยะเวลาก็จะสั้นลง และถ้าต้มให้เดือดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เชื้อโควิด-19 ทั้งหมดจะถูกทำลายทันที โดยอธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้แนะนำให้เลือกเนื้อสัตว์จากสถานที่จำหน่ายที่สะอาด โดยต้องมีใบรับรองจากกรมปศุสัตว์ หรือให้สังเกตตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK”

ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ กลุ่มตรวจสอบมาตรฐานด้านการปศุสัตว์ สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ (สพส.) กรมปศุสัตว์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-653-4444 ต่อ 3134
…………………………………………………………………..
ข่าวและข้อมูลโดย : สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ (20 กรกฎาคม 2564)