งดงามล้ำค่า ภูมิปัญญาผ้าไทย ราชธานีแห่งอีสาน เผยโฉม “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” เข้าสู่เวทีระดับประเทศ

สืบเนื่องจาก กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มีความสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานลายผ้าเป็นของขวัญปีใหม่ ในการนี้ ได้ประทานพระอนุญาตแบบลายมัดหมี่แก่ช่างทอ ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ผ่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่และสื่อความหมายถึงการส่งมอบความรักและความสุขให้แก่ชาวไทยทุกคนและประทานพระอนุญาตให้กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค สามารถนำไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้าได้ทุกสี ทุกเทคนิค โดยเน้นสีธรรมชาติ ตลอดทั้งนำไปเป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอดไปสู่เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ตามวิถีที่เป็นเอกลัษณ์ประจำถิ่น เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน ส่งเสริม กระตุ้นผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากลเป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส พร้อมทั้งพระราชทานพระอนุญาตให้กรมการพัฒนาชุมชน และสภาสตรี ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้จัดประกวดลายผ้าพระราชทาน

จังหวัดอุบลราชธานี โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี จึงได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และได้จัดพิธีลงนามถวายพระพรชัยมงคลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 8 มกราคม 2564 ณ ศาลาเรือนไทย ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีฯ พร้อมด้วย นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี พัฒนาการอำเภอและบุคลากรในสังกัด ร่วมลงนามถวายพระพรชัยมงคล เพื่อแสดงความจงรักภักดีและน้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้มอบแบบลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ให้กับพัฒนาการอำเภอทั้ง 25 อำเภอ และตัวแทนกลุ่มทอผ้า เพื่อสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทยให้ดำรงไว้ในแผ่นดินไทย ก่อนนำไปพัฒนาต่อยอดมรดกภูมิปัญญาผ้าไทยทั่วประเทศ ซึ่งทุกลวดลายล้วนเปี่ยมไปด้วยความหมาย อาทิ ลาย S หมายถึง Sirivannavari ลาย S จำนวน 10 แถว หมายถึง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ หมายถึง ความรักของพระองค์ที่มีต่อประชาชนชาวไทยทุกคน Eternity Love

เพื่อเป็นการจุดประกายความคิดในการพัฒนาลวดลายผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้ร่วมสมัย สามารถก้าวสู่ระดับสากลเพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน และเป็นการสืบสาน อนุรักษ์ ปลุกกระแสเทรนด์ผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล เป็นการดึงรายได้เข้าสู่ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก กรมการพัฒนาชุมชน จึงได้ดำเนินการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” โดยให้ทุกจังหวัด ได้ศึกษากรอบแนวทาง และห้วงระยะเวลาการจัดประกวดลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” และจัดทำประกาศจังหวัดรับสมัครการประกวด ระหว่างวันที่ 15 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2564 ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานี ได้ดำเนินการจัดทำประกาศรับสมัคร และประชาสัมพันธ์การรับสมัคร ประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” และได้ดำเนินการพิจารณากลั่นกรองผ้า โดยคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองผ้าระดังจังหวัด ณ ห้องประชุมสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ก่อนส่งเข้าประกวดฯ ระดับภาคจำนวน 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 มีผู้ส่งผ้าเข้าประกวดฯ จำนวน 49 กลุ่ม/ราย ผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการฯ จำนวน 27 กลุ่ม/ราย และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 มีผู้ส่งผ้าเข้าประกวดฯ จำนวน 53 กลุ่ม/ราย ผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการฯ จำนวน 29 กลุ่ม/ราย รวมผ้าส่งเข้าประกวดระดับภาค จำนวน 56 กลุ่ม/ราย

สำหรับผลการประกวดผ้าที่ผ่านเข้ารอบ กิจกรรมประกวดลายพระราชทาน “ผ้าลายขอสิริวัณณวรีฯ” ภายใต้โครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทย” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 3 ราย ได้แก่ นายฉัตรชัย ปกครอง บ้านเลขที่ 14 หมู่ที่ 3 ตำบลเก่าขาม อำเภอน้ำยืน ประเภท ผ้ามัดหมี่ 2 ตะกอ นางสาวกัญญาณัฐ คำเมฆ บ้านเลขที่ 38/9 ตำบลวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ ประเภท ผ้าขิด และนายมีชัย แต้สุจริยา บ้านคำปุน บ้านเลขที่ 311 ถนนศรีสะเกษ อำเภอวารินชำราบ ประเภท ผ้าเทคนิคผสม

ส่วนผ้าที่ผ่านเข้ารอบกิจกรรมการประกวดฯ ระดับประเทศ ของจังหวัดอุบลราชธานี มีจำนวน 2 ราย ได้แก่ นางสาวกัญญาณัฐ คำเมฆ บ้านเลขที่ 38/9 ตำบลวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ ประเภทผ้าขิด นั้น ได้รับแรงบันดาลการทอ จากผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” จึงได้นำมาแกะลาย ออกแบบ เก็บลาย ใส่เขาและยกขิด เป็นการผสมผสานลายดอกแก้ว ผสมยกขิด โดยใช้ไหมบ้าน ย้อมคราม ทำให้เกิดความสวยงามอีกด้วย

ส่วนผ้าที่ผ่านการเข้ารอบการประกวดฯ ระดับประเทศ อีกหนึ่งรายที่งดงามยิ่ง ได้แก่ นายมีชัย แต้สุจริยา บ้านคำปุน บ้านเลขที่ 311 ถนนศรีสะเกษ อำเภอวารินชำราบ ประเภทผ้าเทคนิคผสม ใช้เทคนิคการทอมัดหมี่ 2 ตะกอ กว้าง 100 เซนติเมตร ยาว 200 เซนติเมตร ทอตามแบบอัตลักษณ์ผ้ากาบบัว ซึ่งเป็นผ้าเอกลักษณ์จังหวัดอุบลราชธานี และมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ปี 2557 ของกระทรวงวัฒนธรรม โดยผสมผสานการออกแบบ โดยมี 1)เส้นยืนทิว 2)เส้นพุ่ง มัดหมี่ 3)เส้นพุ่งมับไม (หางกระรอก) 4)ขิด (ยก) นอกจากนี้ ยังเพิ่มเทคนิคจก (จกดาว) และเกาะล้วง ตามลวดลายขอพระราชทานสมเด็จเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ด้วยไหมคำและเงินเพื่อเทิดพระเกียรติให้มีความประณีต และมีคุณค่าเป็นผ้าสำหรับบุคคลชั้นสูง ซึ่งลวดลายที่ใช้ในการทอผ้าลายพระราชทานนี้ ได้รักษาให้คงไว้ตามแบบที่ได้พระราชทานทุกประการ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติในพระอัจฉริยภาพ และนำเอาเทคนิคการทอแบบต่าง ๆ ที่ใช้ในผ้าเอกลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี และบ้านคำปุน มาถักทอ ตกแต่งให้มีคุณค่า ถือเป็นตัวแทนของความจงรักภักดีที่ราษฎร เกษตรกร ของเมืองนี้ ที่มีต่อพระองค์

ทั้งนี้ เป็นการแสดงความจงรักภักดี และน้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ รวมถึงเป็นการแสดงออกถึงภูมิปัญญาประเภทผ้าไทย ของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นราชธานีแห่งเดียวในภาคอีสาน และเป็นการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ให้ดำรงไว้ในแผ่นดินไทย ตามนโยบายของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ สภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ก่อนนำไปพัฒนาต่อยอดมรดกภูมิปัญญาผ้าไทยทั่วประเทศให้คงอยู่สืบไป

อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน และงานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี..ภาพข่าว/รายงาน