จุรินทร์ “ดันส่งออกสินค้า” ที่ตอบโจทย์ “เมกะเทรนด์ของโลก” เน้นสินค้าไลฟ์สไตล์ อาหาร ธุรกิจบริการ นำรายได้เข้าประเทศ

18 กรกฎาคม 2564 นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ทำแผนเร่งรัดการส่งออกสินค้าที่ตอบโจทย์เมกะเทรนด์ของโลกให้มากขึ้น เพราะถือเป็นอนาคตของการส่งออกของไทย และเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง สามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และทำเงินเข้าประเทศได้ดีกว่าการส่งออกสินค้าขั้นปฐมเพียงอย่างเดียว

โดยสินค้าที่ต้องส่งเสริมและพัฒนาเพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าไลฟ์สไตล์ ที่พัฒนามาจากวัสดุเหลือใช้ หรือผลผลิตเหลือใช้ทางการเกษตร และขยะคุณภาพดีจากแหล่งอุตสาหกรรม ที่นำมาแปรรูปและออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เชิงสร้างสรรค์ สินค้าในกลุ่มอาหารแปรรูป เกษตรแปรรูป และสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร ที่ได้รับการพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (circular packaging) เพื่อตอบโจทย์เมกะเทรนด์ BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว คือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยต้องดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมด้านการตลาด ผ่านการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างภาพลักษณ์สินค้า BCG ของไทยในตลาดต่างประเทศ

นอกจากนี้ ให้เน้นความสำคัญของอาหารอนาคต (future food) ซึ่งประกอบด้วย 4 กลุ่มหลัก ได้แก่

1.อาหารฟังก์ชั่น (functional food)

2.อาหารนวัตกรรมใหม่ (novel food)

3.อาหารทางการแพทย์ (medical food)

4.อาหารอินทรีย์ (organic food)

เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคในด้านต่างๆ เช่น การเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย เพื่อโภชนาการเฉพาะบุคคล เพื่อสุขภาพจิตที่ดี เพื่อโภชนาการรูปแบบใหม่ที่ไม่บริโภคอาหารที่มาจากเนื้อสัตว์ (Plant-based) และอาหารผู้สูงอายุ เป็นต้น โดยมีตลาดส่งออกเป้าหมายหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย

ขณะเดียวกัน ต้องให้ความสำคัญกับอาหารมังสวิรัติ ที่มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดอินเดีย สินค้าฮาลาล ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่อาหาร แต่ให้รวมถึงสินค้าแฟชั่นและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องสำอาง โดยมีตลาดเป้าหมายในกลุ่มประเทศมุสลิม เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ UAE เป็นต้น และตลาดในประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม แต่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่มาก เช่น อินเดีย จีน รัสเซีย เป็นต้น รวมถึงสมุนไพร เครื่องสำอาง ที่กำลังเติบโตดี โดยมีตลาดเป้าหมาย เช่น จีน เวียดนาม รัสเซีย

นางมัลลิกา กล่าวว่า ส่วนธุรกิจบริการ ให้เน้นความสำคัญกับการส่งเสริมธุรกิจบริการมูลค่าสูง ได้แก่ บริการสุขภาพ เช่น สปา โรงพยาบาล คลินิกเฉพาะทาง ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ดิจิทัลคอนเทนต์ เช่น เกม คาแรคเตอร์ ซอฟต์แวร์ โซลูชัน แอนิเมชัน โฆษณา โพสต์ โปรดักชัน ภาพยนตร์และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นแหล่งเอ้าท์ซอสงานระดับสูง และเป็นผู้นำด้านไอพีของตลาดเอเชีย

“สำหรับธุรกิจบริการอื่นๆ ให้เน้นบริการด้านการศึกษานานาชาติ ธุรกิจแฟรนไซส์ บริการสิ่งพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ สตาร์ทอัป ก่อสร้าง อีเวนต์ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งและผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจ Trade Supporting Services ในภูมิภาคอาเซียน และโลจิสติกส์ โดยส่งเสริมผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไทยมีความโดดเด่น โดยให้เน้นร้านอาหารที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai Select ด้วยการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ตรา Thai Select และกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับร้านอาหาร Thai Select ในต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และใช้ร้านอาหารไทยเป็นช่องทางในการส่งออกสินค้าวัตถุดิบอาหารไทยและเครื่องปรุงรส

ส่วนสินค้าที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์โควิด-19 ให้เร่งรัดผลักดันการส่งออกต่อไป เช่น สินค้าเกษตร และอาหาร ทั้งอาหารคน และอาหารสัตว์เลี้ยง สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน และสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและเพื่อสุขภาพและอนามัย รวมถึงสินค้าที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เช่น ชิ้นส่วนอุปกรณ์และส่วนประกอบยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรกลการเกษตร สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ” นางมัลลิกา กล่าว