อย. ตรวจสอบไม่พบการนำเข้าเครื่องสำอางที่มีข่าวพบสารก่อมะเร็ง

อย. แจงกรณี U.S. FDA เรียกคืนเครื่องสำอางป้องกันแสงแดดรูปแบบสเปรย์อัดก๊าซ จำนวน 5 รายการโดยความสมัครใจของ บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เนื่องจากพบสารเบนซินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ตรวจสอบแล้วไม่พบการนำเข้าสินค้าดังกล่าวมาในประเทศไทย ขอผู้บริโภควางใจ อย. มีระบบการติดตามเฝ้าระวังอย่างรัดกุม หากพบจะเรียกคืนสินค้าและแจ้งเตือนผู้บริโภคทราบทันทีเพื่อหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ไม่ปลอดภัย

ภญ. สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข และรักษาการรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีที่องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (U.S. FDA) แจ้งการเรียกคืนเครื่องสำอางป้องกันแสงแดดรูปแบบสเปรย์อัดก๊าซ (Aerosol Sunscreen) โดยความสมัครใจของบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ชื่อการค้า NEUTROGENA® และ AVEENO® จำนวน 5 รายการ ทุกรุ่นการผลิต ได้แก่

(1) NEUTROGENA® Beach Defense® aerosol sunscreen

(2) NEUTROGENA® Cool Dry Sport aerosol sunscreen

(3) NEUTROGENA® Invisible Daily™ defense aerosol sunscreen

(4) NEUTROGENA® Ultra Sheer® aerosol sunscreen

(5) AVEENO® Protect + Refresh aerosol sunscreen

เนื่องจากตรวจพบสารเบนซิน (benzene) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบแล้วพบว่า มีผลิตภัณฑ์ที่จดแจ้งกับ อย. เพียงรายการเดียว คือ นูโทรจีนา คูลดราย สปอร์ต ซันสกรีน สเปรย์ บรอด สเปคตรัม เอสพีเอฟ 50 (NEUTROGENA COOLDRY SPORT SUNSCREEN SPRAY BROAD SPECTRUM SPF 50) โดย บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ไทย) จำกัด ยื่นจดแจ้งผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด รูปแบบสเปรย์ ใบรับจดแจ้งเลขที่ 10-2-6010030569 ขณะนี้ยังไม่พบการนำเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาในประเทศไทย ขอประชาชนไม่ต้องกังวล ซึ่ง อย. ได้มีหนังสือแจ้งบริษัทให้ทราบและแจ้งให้ด่านอาหารและยาทุกแห่งเฝ้าระวังการนำเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว

ทั้งนี้ สารเบนซิน จัดเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งประเทศไทยได้มีประกาศฯ ห้ามใช้สารเบนซินเป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง และเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค อย. มีระบบติดตามเฝ้าระวังความเครื่องสำอางที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด โดยเฉพาะเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยใช้ หากตรวจพบจะรีบแจ้งเตือนให้ผู้บริโภคทราบทันที โดยสามารถติดตามข้อมูลเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยได้ที่เว็บไซต์กลุ่มควบคุมเครื่องสำอาง https://www.fda.moph.go.th/sites/Cosmetic/SitePages/ Analysis.aspx และหากพบการลักลอบผลิต นำเข้า ขาย เครื่องสำอางที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน อย 1556 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวย้ำในตอนท้าย

******************************************
วันที่เผยแพร่ข่าว 17 กรกฎาคม 2564 ข่าวแจก 139 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
ข้อมูล https://bit.ly/3ksQiad