พช.ลำปาง ร่วมจัดกิจกรรม “จิตอาสาพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคี” เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิม พระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.00 น. นายชาตรี ธินนท์ พัฒนาการจังหวัดลำปาง มอบหมายให้ นางทิพย์วรรณ แก้วทอง ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน เป็นประธานจัดกิจกรรม “จิตอาสาพัฒนาชุมชน เอามื้อสามัคคี ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเปิดกรวยหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและกล่าวน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พร้อมทั้งร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และร่วมกล่าวคำปฏิญาณตนของจิตอาสา เราทำความดีด้วยหัวใจ จังหวัดลำปางได้จัดกิจกรรม “จิตอาสาพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคี” ดำเนินการจุดที่ 2 ในแปลงพื้นที่จุดขยายผล ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ ของนายประวีน ศิราไพบูลย์พร ณ บ้านแม่ฮ่าง หมู่ที่ 4 ตำบลนาแก อำเภองาว จังหวัดลำปาง

ในการนี้ นายสันติวิทวุฒิศักดิ์ พัฒนาการอำเภองาว นายวิทยา ไชยคำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาแก กำนันตำบลนาแก ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน นักวิชาการสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำปางและสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภองาว นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) และประชาชนจิตอาสา เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 50 คน หลังจากนั้นได้ นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่เปิดกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ณ แปลงพื้นที่จุดขยายผลต้นแบบของนายประวีน ศิราไพบูลย์พร ร่วมกันดำเนินกิจกรรมประกอบด้วย การปลูกต้นไม้ ประเภทไม้ผลไม้ยืนต้น การห่มดินด้วยฟางและการขุดคลองไส้ไก่ ในพื้นที่บริเวณ โคก หนอง นา พช.ของครัวเรือนต้นแบบ ฯ

ด้านนายอรุณ เยละ ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่ฮ่าง หมู่ที่ 4 ตำบลนาแก อำเภองาว จังหวัดลำปาง เล่าว่า พื้นที่บ้านแม่ฮ่างเคยเป็นเขาหัวโล้นมาก่อน เนื่องจากราษฎรมีอาชีพปลูกพืชไร่ คือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งก่อให้เกิดภาวะการใช้ที่ดินที่ทำลายความชุ่มชื้นและความอุดมสมบูรณ์ของดิน เกิดความแห้งแล้งของสภาพอากาศ ทั้งยังพบว่าการทำเกษตรเชิงเดี่ยวมีความเสี่ยงในด้านรายได้ ตนเองและคนในชุมชนจำนวนหนึ่ง รวมถึงนายประวีณ เจ้าของแปลงศูนย์เรียนรู้ฯ จึงได้หันมาสนใจการทำเกษตรแบบผสมผสานและการพัฒนาพื้นที่รูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” เพราะเชื่อว่าจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงพลิกฟื้นพื้นที่ให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ ได้ ขณะเดียวกันการเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช. ” ยังเป็นการสร้างพื้นที่เรียนรู้หรือศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ สำหรับถ่ายทอดองค์ความรู้ ขยายผลสู่คนในชุมชน ในตำบล อำเภอ จังหวัด และคนที่สนใจทั่วไป ที่จะมาศึกษา เรียนรู้ และน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดความมั่นคงในชีวิตตนเอง ครอบครัว และชุมชนต่อไป

………………………………….
ภาพ / ข่าว โดย : ทีมงานประชาสัมพันธ์ กลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน สพจ.ลำปาง