กรม อ. จับมือภาคีเครือข่าย ผุดไอเดีย โมบาย “ครอบครัวรอบรู้ อยู่กับโควิด-19” เคลื่อนล้อ สร้างความรอบรู้ในชุมชน

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรม “ครอบครัวรอบรู้ อยู่กับโควิด-19” ผ่านรถโมบายเคลื่อนที่ ไปยังชุมชน เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้กับประชาชน พร้อมมอบชุดอนามัย Health Kit สำหรับเพิ่มความรู้และใช้อุปกรณ์ที่สนับสนุนในการป้องกัน โควิด-19

​วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ภายใต้กิจกรรม “ครอบครัวรอบรู้ อยู่กับโควิด-19” ณ ศูนย์พัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน จังหวัดปทุมธานี ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะนี้ พบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละวัน ทำให้โรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนาม เริ่มจะรองรับจำนวนผู้ป่วยได้น้อยลง ประชาชนที่เข่าข่ายกลุ่มสีเขียวที่มีอาการไม่รุนแรง สามารถใช้วิธีการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ได้ เพื่อควบคุมป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย ส่วนผู้ที่ ยังไม่ติดเชื้อและยังใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ ยังคงต้องคุมเข้มความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับในชุมชนที่มีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ถึงแม้จะมีนโยบายให้แยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) แต่ก็ต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นเดียวกัน

โดยล่าสุดกรมอนามัยได้ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินกิจกรรม “ครอบครัวรอบรู้ อยู่กับโควิด-19” ผ่านรถโมบายเคลื่อนที่ สร้างความรอบรู้ให้กับครอบครัวและประชาชนที่อาศัยในชุมชนรวมถึงคนไร้บ้าน เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้รู้จักป้องกันตนเอง จากโรคโควิด-19 มากขึ้น พร้อมทั้งมีหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องร่วมสนับสนุนทีมตรวจคัดกรอง Antigen Test Kit เพื่อการเข้าถึงการตรวจโควิด-19 ด้วยตนเอง และการปฏิบัติตัวได้อย่างทันท่วงที ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

​“นอกจากนี้ ภายในรถโมบายเคลื่อนที่ยังมีชุดอนามัย Health Kit มอบให้กับประชาชน ซึ่งประกอบด้วย

1) ยาพาราเซตามอล

2) ยาฟ้าทะลายโจร

3) ชุดทำความสะอาด (สเปรย์แอลกอฮอล์)หน้ากากอนามัย

4) คู่มือ “ครอบครัวรอบรู้อยู่กับโควิด 19”

ฉบับย่อ โดยเป็นข้อแนะนำและแนวทางปฏิบัติในการจัดการระบบสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปสู่บุคคลอื่นและชุมชน แบ่งเป็นด้านสุขอนามัยส่วนบุคคล ได้แก่

1) ประเมินความเสี่ยงตนเองผ่าน “ไทยเซฟไทย”

2) สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่ออยู่ในชุมชน

3) เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงพบปะในระยะใกล้ชิด

4) หมั่นล้างมือบ่อย ๆ

5) แยกของใช้ส่วนตัว และแยก ทำความสะอาด

6) ไม่ใช้เครื่องนอนร่วมกัน ส่วนห้องนอน ให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก แสงแดดเข้าถึงได้

7) แยกขยะติดเชื้อใส่ถุงแดง มัดปากถุงให้แน่น ทำสัญลักษณ์ให้เห็นชัดเจน

ส่วนแนวทางปฏิบัติด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมของการแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) นั้น ต้องขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรุงเทพมหานคร จัดให้มีที่พักขยะมูลฝอยติดเชื้อสำหรับการแยกกักตัวในชุมชน และมีการบำบัดน้ำเสียและสิ่งปฏิกูลก่อนปล่อยลงสู่สาธารณะ เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายโรคโควิด-19” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 17 กรกฎาคม 2564