ท่านเจ้าคุณ พระพิพัฒน์วชิโรภาส เมตตาประสานพลัง “บวร” จัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคี “โคก หนอง นา พช.” ร่วมสร้างปอดให้เมืองอุบลฯ ปลูกต้นไม้ ผักสวนครัว และพืชสมุนไพร ต้านภัยโควิด-19

วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ณ ศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานีท่านเจ้าคุณ พระพิพัฒน์วชิโรภาส พระราชาคณะ ที่ปรึกษาและผู้สนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้เมตตาร่วม “สร้างปอดให้เมืองอุบล” จัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคี “โคก หนอง นา พช.” อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ปลูกต้นไม้ ผักสวนครัว และพืชสมุนไพร ต้านภัยโควิด-19 และสร้างธนาคารต้นไม้ เพาะต้นยางนา เป้าหมาย 10,000 ต้น ในการนี้ นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ได้มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี โดย นางกนกอร โพธิ์สิงห์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน นางวริชา เสาทอง พัฒนาการอำเภอเขื่องใน เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอ และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ(นพต.) อำเภอเขื่องใน จำนวน 35 คน ร่วมกับ อุบาสก อุบาสิกา ผู้มีจิตศรัทธาและจิตอาสา เอามื้อสามัคคี “โคก หนอง นา พช.” อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ร่วมกิจกรรมฯ เพื่อแจกจ่ายให้กับแปลง CLM และ HLM ในพื้นที่อำเภอเขื่องใน และพื้นที่อื่นที่สนใจ นอกจากนั้น คณะจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ยังได้นำต้นมะม่วงเสียบยอด พันธุ์โชคอนันต์ จำนวน 2 ต้น, ขนุนพันธุ์แดงสุริยาเสียบยอด จำนวน 2 ต้น, มะขามเปรี้ยวยักษ์ กิ่งทาบจำนวน 2 ต้น, ลำไยอีดอเสียบยอด จำนวน 2 ต้น เพื่อปลูกในแปลง โคก หนอง นา วังอ้อ โมเดล แห่งนี้ด้วย

โอกาสนี้ ท่านเจ้าคุณ พระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” กรมการพัฒนาชุมชน และพระนักพัฒนาที่ขับเคลื่อนชุมชนตามหลัก “บวร” หรือบ้าน วัด ราชการ ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานครั้งนี้ว่า “ก่อนอื่นขอนำเสนอประโยชน์ของโคก หนอง นา ในด้านทางกายภาพ เป็นการส่งผลให้ระบบนิเวศดีขึ้น การขุดหนอง คลอง โคก จะทำให้มีแหล่งที่จะเก็บน้ำฝนให้ได้ปริมาณมากขึ้น ที่ได้หลายล้านลูกบาศก์ ในอีกส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ สัตว์ทั้งหลายที่ธรรมชาติก็จะเกิดขึ้นอีกมากมาย ชาวบ้านก็จะได้รับประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น มีความมั่นคงของชีวิต มีความมั่นคงทางอาหาร พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น นอกจากนี้ชาวบ้านที่ทำโคกหนองนาเป็นผู้มีบุญ มีทาน มีการเก็บแปรูปถนอมอาหาร มีการขายเพิ่มเพิ่มรายได้ มีเครือข่ายเรื่องการตลาด มีเครือข่ายคุณธรรม นอกเหนือจากนี้ชาวบ้านเกิดคุณธรรม เกิดบุญเกิดทานอยู่ในแปลงโคกหนองนา ความอดทน ความเพียรก็ถือว่าเป็นคุณธรรม ความสามัคคีก็เกิดขึ้นในแปลงจากการเอามื้อสามัคคี ผลผลิตที่เกิดขึ้นถ้าเอาไปทำบุญก็ได้บุญ เอาไปทำทานก็ได้ทาน เอาไปแจกผู้ประสบภัยพิบัติก็เป็นความมีน้ำใจ เอาไปให้พ่อแม่ก็เป็นความกตัญญู เราจะได้เห็นว่าโคกหนองนาไม่เฉพาะเพียงที่จะให้เกิดระบบนิเวศที่ดี แต่ยังทำให้ชาวบ้านเกิดในเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม มีความดีงามเกิดขึ้นในครอบครัวและชุมชนด้วยอันนี้เป็นเรื่องดีของโคกหนองนา โดยอีกหนึ่งบทบาทของพระสงฆ์ คือการขับเคลื่อน โคก หนอง นา ให้มีโอกาส เกื้อกูล ส่งเสริม และพัฒนาชุมชนท้องถิ่น อย่างเช่นที่มาช่วยแปลง “โคก หนอง นา บวร โมเดล” ในวันนี้ นี่ก็คือการร่วมมือด้วยหลัก “บวร” คือ บ้าน วัด ราชการ นั่นเอง”

ท่านเจ้าคุณ พระพิพัฒน์วชิโรภาส ยังได้ถ่ายทอดเพิ่มเติมอีกว่า “สำหรับ โคก หนอง นา วังอ้อ โมเดล แห่งนี้เป็น ผืนนา มรดกของพ่อกับแม่ มีพื้นที่ 6 ไร่ แบ่งเป็น “โคก” 2 ไร่ ปลูกป่าสามอย่าง คือ ป่าพอกิน ป่าพอใช้ และ ป่าพออยู่ เพื่อประโยชน์สี่อย่าง คือ ประโยชน์ได้กิน ได้ใช้ ได้มีความร่มเย็นเป็นสุข และได้ป้องกันการชะล้างหน้าดิน ให้ออกซิเจน ให้อาหาร ให้อากาศ ให้อาวาส ให้อารมณ์ ให้บรมธรรม แก่ผืนป่า ส่วน “หนอง” หรือสระน้ำ มีเนื้อที่ 3 งาน เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ ในการเกษตร การประมง การปศุสัตว์ และ “นา” มี 3 ไร่ 1 งาน สำหรับปักดำข้าวอินทรีย์ ขยายพันธ์ข้าว ปิ่นเกษตร+4 กับ ข้าวสินเหล็ก แจกจ่ายชาวบ้าน เกษตรกร และเครือข่ายอินทรีย์ ซึ่งจะเป็นการรักษาพันธุ์ข้าวดั้งเดิมของท้องถิ่น โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา พื้นที่แห่งนี้ ยังใช้เป็นศูนย์เรียนรู้ การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นตัวอย่างให้กับครอบครัว ชุมชน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือความพอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น เป็นความมั่นคงขั้นพื้นฐาน และจักขยาย เป็นความมั่นคงขั้นก้าวหน้า คือบุญ ทาน เก็บขาย เป็นความร่วมมือของ “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ และที่สำคัญ คือจิตวิญญาณ ในการเข้าถึง ศาสตร์พระราชา และธรรมะขององค์สมเด็จ พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า อาทิ ความสันโดษ ความอดทน ความเพียร ความสามัคคี ความมีน้ำใจ ความซื่อสัตย์ สุจริต จิตอาสา ในส่วนของการฝึกอบรมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” จังหวัดอุบลราชธานี กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา นั้น ยังเหลือติดค้างเนื่องจากติดสถานการณ์โควิด-19 โดยการอบรมล่าสุดคือวันที่ 9 เมษายน 2564”

ขณะที่ นางกนกอร โพธิ์สิงห์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ได้เปิดเผยว่า “ศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ แห่งนี้ ถือเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาชุมชนถิ่น และการช่วยเหลือเกื้อกูล ระหว่าง “บวร” หรือ บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ โดยพื้นที่แห่งนี้ เป็นสถานที่กล่อมเกลาจิตใจและใช้เรียนรู้ในการพัฒนาชุมชนให้มีกิจกรรมที่สร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนในชุมชนมีความรักสามัคคี เป็นสังคมแห่งความเกื้อกูล เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร ถ่ายทอดองค์ความรู้โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ซึ่งเป็นการน้อมนำเอาแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาสืบสาน รักษา ต่อยอด และสามารถประยุกต์ใช้ได้จริงในการพึ่งตนเองและสร้างทางรอดในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเป็นการจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะกับพื้นที่ เป็นการผสมผสานทฤษฎีใหม่ เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านให้สอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ และจะช่วยให้ธรรมชาติจัดการตัวมันเองโดยมีมนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้มันสำเร็จเร็วขึ้น อย่างเป็นระบบ โอกาสนี้ ขอขอบคุณ และอนุโมทนาบุญแด่ทุกท่าน ที่ได้สนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการและกิจกรรมดีอื่นๆ เพื่อสังคมตลอดมา อีกทั้งเป็นการสืบทอดบวรพุทธศาสนาและร่วมน้อมนำศาสตร์พระราชา และแนวพระราชดำริ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในครั้งนี้”

ด้าน นางวริชา เสาทอง พัฒนาการอำเภอเขื่องใน ได้พบปะกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมว่า “ขอขอบคุณทุกท่านที่ได้มาร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคี และน้อมนำแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบ 2 และร่วม ”สร้างปอดให้เมืองอุบล” จากการปลูกต้นไม้และสร้างธรรมชาติให้เกิดขึ้น เนื่องจากสถานที่แห่งนี้นั้น อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองอุบลราชธานี เพียง 20 กว่ากิโลเมตร นอกจากนั้น การปลูกกระชาย ขิง ฟ้าทะลายโจร ยังถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกันโควิด-19 และบรรเทาอาการเบื้องต้นของไข้หวัด หรือป้องกันการติดเชื้อได้

โดยพบว่าสารสกัดของกระชายขาว สามารถแสดงฤทธิ์ในการต้านไวรัสทั้งในระยะก่อนและหลังการติดเชื้อนอกจากนี้ยังช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับ ฟ้าทะลายโจร ซึ่งกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้การรับรองแล้วว่ามีสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ที่สามารถรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ โดยให้รับประทานฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ วันละ 180 มิลลิกรัม เป็นเวลา 5 วัน จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย จะเห็นได้ว่าสมุนไพรไทยมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์อย่างมากมายจนทั่วโลกให้การยอมรับ จึงเป็นจุดแข็งของประเทศไทยที่สามารถนำมาช่วยเหลือให้พี่น้องประชาชนรอดพ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้เป็นอย่างดี สุดท้ายนี้ ขอฝากให้ทุกท่านได้ร่วมกันสร้างความมั่นคงด้านอาหารด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวและพืชสมุนไพร ให้เกิดความต่อเนื่อง เป็นทั้งอาหารและยารักษาโรคต่างๆ หลายโรค รวมถึงโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชน ด้วยความรักห่วงใยและปรารถนาดีต่อพี่น้องประชาชน จากท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน” นางวริชา กล่าวปิดท้าย

อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี…ภาพข่าว/รายงาน