กรมอนามัย แนะ ผู้ที่แยกกักตัวที่บ้าน กำจัด ‘มูลฝอยติดเชื้อ – ชุดตรวจ Antigen Test Kit’ ให้ถูกวิธี

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนที่แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการแยกกักตัว ในชุมชน (Community Isolation) ต้องกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ และชุดตรวจ Antigen Test Kit อย่างถูกวิธี เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรคโควิด-19

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มีมูลฝอยติดเชื้อตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน 2564 รวมทั้งหมด 31,709.84 ตัน เฉพาะในเดือนมิถุนายนเพียงเดือนเดียวพบปริมาณมูลฝอยติดเชื้อสูงที่สุดเฉลี่ย 210 ตันต่อวัน ซึ่งได้มีการประชุมหารือในระดับกระทรวงสาธารณสุขต่อนโยบายที่ให้มีการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) อาจทำให้มีการเพิ่มมูลฝอยทั่วไปและมูลฝอยติดเชื้อจากครัวเรือนมากขึ้น ทั้งที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือสารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู และภาชนะใส่อาหารพร้อมบริโภค (แบบใช้ครั้งเดียว) เป็นต้น โดยเฉพาะ Antigen Test Kit ถือเป็นมูลฝอยที่มีความเสี่ยงสูง จึงจำเป็นต้องมีการแยกจัดการจากขยะทั่วไป เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยประชาชนที่มีการใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit ขอให้กำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด–19 โดยมีแนวทางการจัดการ แบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่

1) กรณีในพื้นที่หรือชุมชนมีระบบการเก็บขนขยะติดเชื้อ ให้เก็บรวบรวมขยะติดเชื้อเป็นประจำทุกวัน โดยใส่ถุงขยะ (ถุงแดง) 2 ชั้น โดยถุงชั้นแรกที่สัมผัสมูลฝอยติดเชื้อ มัดปากถุงด้วยเชือกให้แน่น แล้วฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้อ เช่น สารโซเดียมไฮโปคลอไรท์ 5,000 ppm หรือเตรียมจากน้ำยาฟอกขาวผสมน้ำ อัตราส่วน 1 : 10 หรือแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ แล้วมัดปากถุงชั้นนอกด้วยเชือกให้แน่น และฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้ออีกครั้ง แล้วเคลื่อนย้ายไปไว้ยังจุดพักขยะที่จัดไว้เฉพาะ ประสานไปยังหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้บริการเก็บ ขน มูลฝอยติดเชื้อในพื้นที่ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อกำหนดวิธีการนำมูลฝอยติดเชื้อที่เกิดจาก Home Isolation และ Community Isolation ไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป

“2) กรณีในพื้นที่หรือชุมชนไม่มีระบบการเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อ ให้เก็บรวบรวมและทำลายเชื้อ โดยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น ถุงใบแรกที่บรรจุมูลฝอยติดเชื้อแล้ว ให้ราดด้วยสารฆ่าเชื้อหรือน้ำยาฟอกขาว เช่น ไฮเตอร์ จากนั้นมัดปากถุงให้แน่นแล้วฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้อ เช่น สารโซเดียมไฮโปคลอไรท์ 5,000 ppm หรือเตรียมจากไฮเตอร์ผสมน้ำ อัตราส่วน 1 : 10 หรือแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ ซ้อนด้วยถุงขยะอีก 1 ชั้น มัดปากถุงชั้นนอกด้วยเชือกให้แน่น และฉีดพ่นด้วยสารฆ่าเชื้อบริเวณปากถุงอีกครั้ง ซึ่งมูลฝอยที่ผ่านการ ทำลายเชื้อแล้ว ให้ประสานและนำส่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ นำไปกำจัดเป็นมูลฝอยทั่วไป ทั้งนี้ ภายหลังจัดการมูลฝอยติดเชื้อแล้ว ต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ทันที” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 16 กรกฎาคม 2564