ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิถุนายน 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ถึงแม้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัส Covid – 19 ยังรุนแรงอยู่

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต เป็นผลจากการที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว การส่งออกที่ไทยในเดือนพ.ค.มีการขยายตัวในอัตราสูงสุดในรอบเกือบ 11 ปี รวมทั้ง การค้าชายแดนก็ขยายตัวในอัตราสูงเช่นเดียวกัน ประกอบกับ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ทั้งของกระทรวงพาณิชย์ตามนโยบายยุทธศาสตร์ของรมว.จุรินทร์ และหน่วยงานอื่นๆ ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง และการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส Covid-19 ได้เพิ่มมากขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนมิถุนายน 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 42.7 เทียบกับระดับ 41.6 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 34.3 มาอยู่ที่ระดับ 34.4 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต พบว่า ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 46.5 มาอยู่ที่ระดับ 48.1 หากจำแนกรายภูมิภาค จะพบว่าเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นมากที่สุด จากระดับ 38.5 มาอยู่ที่ระดับ 41.6 รองลงมาคือ ภาคกลาง ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 39.7 มาอยู่ที่ระดับ 41.3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากระดับ 43.5 มาอยู่ที่ระดับ 44.2 ภาคเหนือ จากระดับ 40.5 มาอยู่ที่ระดับ 41.1 และภาคใต้ จากระดับ 42.7 มาอยู่ที่ระดับ 44.7

เมื่อจำแนกรายอาชีพ ก็เพิ่มขึ้นเกือบทุกกลุ่มอาชีพ โดยกลุ่มนักศึกษามีสัดส่วนการปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด จากระดับ 37.1 มาอยู่ที่ระดับ 43.0 กลุ่มพนักงานเอกชน จากระดับ 40.6 มาอยู่ที่ระดับ 41.9 กลุ่มพนักงานของรัฐ จากระดับ 47.4 มาอยู่ที่ระดับ 48.6 กลุ่มเกษตรกร จากระดับ 42.6 มาอยู่ที่ระดับ 43.7 กลุ่มผู้ประกอบการ จากระดับ 41.2 มาอยู่ที่ระดับ 41.9 กลุ่มรับจ้างอิสระ จากระดับ 39.3 มาอยู่ที่ระดับ 39.7 อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ไม่ได้ทำงานยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อมั่นต่ำที่สุด โดยปรับลดลงจากระดับ 36.9 มาอยู่ที่ระดับ 36.6 เนื่องจากเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 มากที่สุด และมีความไม่มั่นคงในการดำรงชีพ

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ กล่าวสรุปว่า จากการที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลจากการที่ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว การส่งออกของไทยขยายตัวสูงสุดในรอบเกือบ 11 ปี โดยในเดือนพฤษภาคม 2564 ขยายตัว 41.59% คิดเป็นมูลค่า 714,885.27 ล้านบาท ในขณะที่การค้าชายแดนก็ขยายตัวในอัตราที่สูงถึง 38.38% เมื่อเทียบจากเดือนเดียวกันปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 150,858 ล้านบาท รวมทั้ง การเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการ “ลดราคา ช่วยประชาชน” และโครงการจับคู่กู้เงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในช่วงวิกฤติ Covid – 19 ของกระทรวงพาณิชย์ตามนโยบายยุทธศาสตร์ของรมว.จุรินทร์  รวมถึง โครงการคนละครึ่ง โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษที่จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียน และจะเริ่มใช้ได้ในเดือนกรกฎาคมนี้ ประกอบกับ ภาครัฐได้เร่งฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส Covid – 19 ได้เพิ่มมากขึ้นในเดือนมิถุนายน 2564 แต่อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid – 19 ที่ยังมีความรุนแรงจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงมีจำนวนมาก ประกอบกับธุรกิจหลายประเภทไม่สามารถดำเนินการได้ โดยเฉพาะร้านอาหาร สถานบันเทิง สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ร้านเสริมสวย เป็นต้น ยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

กระทรวงพาณิชย์

15 กรกฎาคม 2564