สสส. หนุนภาคีสร้างสุขภาคใต้ เสริมแกร่งให้ชุมชน เพิ่มขีดความสามารถ ลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ ยกระดับสุขภาวะคนใต้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี เดินหน้า “สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ” พัฒนาศักยภาพภาคี ขยายโอกาสอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ห้องประชุมมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและนโยบายสาธารณะ และรักษาการผู้อานวยการสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า งานสร้างสุขภาคใต้ ครั้งที่ 12 ภายใต้หัวข้อ “สานงาน เสริมพลัง ก้าวข้ามขีดจำกัด สู่ภาคใต้แห่งความสุขในวิถี New Normal” มีวัตถุประสงค์เพื่อหนุนเสริมกระบวนการสานพลังของภาคีเครือข่ายสุขภาวะในรูปแบบสานงาน เสริมพลัง ข้ามประเด็น ก้าวข้ามเครือข่าย ในการทำงานในพื้นที่และในกระบวนการนโยบายสาธารณะ นำไปสู่เกิดกระบวนการสร้างและขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะนำไปสู่ความมั่นคงทางสุขภาวะ 4 ด้าน คือ

1.ความมั่นคงทางอาหาร

2.ความมั่นคงทางสุขภาพ

3.ความมั่นคงทางมนุษย์

4.ความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ซึ่งภาคีเครือข่ายได้นำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบาย ผ่านระบบ Zoom ออนไลน์ โดยมีผู้ร่วมประชุมกว่า 1,500 คน

สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับผู้บริหารองค์กร สสส. ในการจัดงานสร้างสุขภาคใต้ครั้งนี้ เน้นสร้างรูปธรรมขับเคลื่อนข้อเสนอให้เกิดการนำไปปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ และใช้กลไกที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เกิดการสานพลัง ก้าวข้ามขีดจำกัด ยกระดับสุขภาวะคนใต้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเสนอให้ สสส. มีบทบาทหนุนเสริมการทำงานของภาคีเครือข่าย อาทิ กระบวนการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น สนับสนุนกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเพิ่มขีดความสามารถ นอกจากนี้ ควรเป็นกลไกกลางประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านสุขภาพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานด้านสุขภาพในระดับจังหวัด โดยจัดตั้งกองทุนเพื่อสร้างเสริมสุขภาพระดับจังหวัด ดำเนินการด้านการกระจายอำนาจด้านการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพในระดับภูมิภาคและระดับจังหวัด เพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาและบริบทของพื้นที่

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนประเด็นสุขภาวะของภาคใต้ทั้งในเชิงพื้นที่และเชิงนโยบาย สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การทำงานของ สสส. 10 ปี ซึ่งมียุทธศาสตร์เฉพาะเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพภาคีเครือข่าย ขณะที่แผน 3 ปี การทำงานสุขภาพของ สสส. จะเน้นให้ความสำคัญต่อการดูแลกลุ่มพื้นที่เฉพาะอย่างเต็มรูปแบบมากยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับการทำงาน “ขยายโอกาสสร้างความยั่งยืน” โดยร่วมกับภาคีเพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พร้อมแสวงหาการทำงานความร่วมมือ และผนึกกำลังแหล่งทุนในระดับพื้นที่ นำมาขยายโอกาสการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพให้เกิดการกระจายอย่างกว้างขวาง และครอบคลุมโจทย์ ปัญหาสุขภาวะของพื้นที่ โดยมีกลไกการสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพและการบริหารจัดการที่มุ่งผลลัพธ์

ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า สสส. มีกลไกสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายอย่างเป็นระบบผ่าน “สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ” (ThaiHealth Academy) ที่ตั้งขึ้นตามระเบียบกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพว่าด้วยการจัดตั้งและการบริหารสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2563 ประกาศเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2563 เพื่อเป็นสถาบันพัฒนาศักยภาพด้านการสร้างเสริมสุขภาวะ ที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ มีภารกิจหลัก 3 ด้าน คือ

1.งานพัฒนาหลักสูตร เช่น พัฒนาวิทยาการหลักสูตรต่างๆ จัดกิจกรรมการอบรม ประเมินและติดตามผล และพัฒนารูปแบบและช่องทางการเรียนรู้ เช่น อี-เลิร์นนิ่ง

2.งานพัฒนาเครือข่ายและชุมชนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เช่น จัดเวทีเสวนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านตามประเด็น/พื้นที่ สร้างแพลตฟอร์มเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้/ศึกษาดูงาน ให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อต่อยอดการปฏิบัติงานจริง พัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานสถาบัน และบริหารจัดการสมาชิก/ลูกค้าสัมพันธ์

3.งานจัดการความรู้และวิจัย เช่น เป็นหน่วยจัดการองค์ความรู้และงานวิจัย ให้บริการทางวิชาการ เผยแพร่องค์ความรู้หรือแนวทางปฏิบัติที่ดี ยกระดับมาตรฐานการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพผ่านการสำรวจ วิจัย หรือเทียบเคียง กับหน่วยงานหน่วยงานสร้างเสริมสุขภาวะในประเทศไทยและแนวทางปฏิบัติสากล