DITP จัดโปรเจคพัฒนาสินค้าสไลฟ์สไตล์ “T – STYLE : ECO” ใช้กลยุทธ์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมสู่ตลาดญี่ปุ่น

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า จัดกิจกรรมการพัฒนาและส่งเสริมสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่ตลาดโลก ภายใต้โปรเจค T – STYLE หรือ “THAI STYLE” โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นหลายต่อหลายท่านในการเป็นที่ปรึกษาโครงการเพื่อให้คำแนะนำผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาสินค้าที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ซื้อในตลาดญี่ปุ่นซึ่งสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมถือเป็นเทรนด์ของไลฟ์สไตล์ในตลาดโลกในยุคปัจจุบัน

การจัดกิจกรรม “T – STYLE”  ในปี 2561 จัดภายใต้แนวคิด ECO Commercial Design เน้นการออกแบบสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมในเชิงพาณิชย์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในตลาดญี่ปุ่นแก่ผู้ประกอบการไทย 18 แบรนด์ โดย MR. Atsushi Koike ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาสินค้าและการตลาดในตลาดญี่ปุ่น ภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโอซาก้า และสำนักงานตัวแทนการค้าฯ ณ เมืองฮิโรชิม่า

  1. MR. Atsushi Koike ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายของวัสดุ ฝีมือการผลิตและความปราณีตบรรจง เมื่อนำมาผนวกกับนิยามความหมายของสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม [Eco Concept] ที่พัฒนาสินค้าตามความหมายหรือเทรนด์ดังกล่าวนั่นคือมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งในด้านวัตถุดิบที่ใช้ กระบวนการผลิต รวมถึงคุณประโยชน์ที่ก่อให้เกิดแก่ท้องถิ่นหรือสังคม ซึ่งนอกจากตัวผู้ผลิตเองต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วจะต้องสามารถสื่อสารไปยังผู้บริโภคได้อย่างดีด้วย สินค้าที่แม้จะไม่ได้ดูเป็น Eco Product อย่างชัดเจนก็ควรสามารถนำเสนอไลฟ์สไตล์หรือส่งเสริมแนวคิดไลฟ์สไตล์แบบใกล้ชิดธรรมชาติ หรือทำให้คนเราอยากอยู่กับธรรมชาติมากขึ้นทำให้คนรู้สึกอยากดูแลรักษาธรรมชาติมากขึ้น รวมทั้งมีความตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติมากขึ้นด้วย

สินค้าที่ได้รับการพัฒนาจากกิจกรรมในครั้งนี้จึงมีความหลากหลายและมีความน่าสนใจในตัวเอง เช่น ผลงาน Mika Stool จากแบรนด์ KENKOON ที่เป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ชั้นนำของไทยที่เข้าร่วมโครงการ ผลงานคอลเลคชั่นนี้มีการนำเศษไม้สักชิ้นเล็กที่เหลือจากการผลิตเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่มาออกแบบเป็นเก้าอี้บาร์ทรงสูงที่มีรูปแบบเรียบง่ายผสมผสานด้วยโลหะเพื่อสร้างความทันสมัยและฟังก์ชั่นที่ลงตัว ผลงาน Tree-In-One / Takraw
/ Layer / Weave จากแบรนด์ PARA ซึ่งได้มีแนวคิดในการนำยางพารามาแปรรูปในรูปแบบของจุกปิดขวดไวน์ แผ่นรองจาน และเส้นยางพาราที่สามารถสานขึ้นรูปได้ตามที่ผู้ใช้ต้องการ โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมาตรฐานวัสดุที่สามารถบรรจุอาหารได้โดยไม่มีสารตกค้าง และผลงาน Aroma Sandstore จากแบรนด์ Nuaynard ซึ่งเป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวออแกนิกส์โดยได้นำวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นอย่าง ‘หินทราย’ ใน จ.นครราชสีมา มาพัฒนาเป็น Diffuser กระจายกลิ่นจากน้ำมันหอมระเหย เป็นต้น

การนำแนวคิดที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในการออกแบบ นอกเหนือจากจะช่วยโลกทั้งด้านการนำวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติ วัสดุเหลือใช้ในกระบวนการผลิตมาใช้ซ้ำ การใช้วัสดุท้องถิ่นมาผสมผสานในการออกแบบเพิ่มฟังก์ชั่นและความงามด้วยการนำกระบวนการทางด้านนวัตกรรมมาผสมผสานในการออกแบบอย่างลงตัวสามารถสร้างผลงานในรูปแบบที่แตกต่าง แปลกใหม่ และสร้างมูลค่าเพิ่มออกสู่ตลาดและตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ได้อย่างแท้จริง

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือ โทรสายตรงการค้าระหว่างประเทศ 1169

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

2 มกราคม 2561