สรุปสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนธันวาคม 2561 และ ปี 2561

ภาพรวม

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนธันวาคม 2561 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ขยายตัวร้อยละ 0.36 (YoY) เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 ติดต่อกัน แต่ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยการชะลอตัวของเงินเฟ้อในเดือนนี้  มีสาเหตุสำคัญจากการลดลงของราคาพลังงาน และการลดลงของราคาผลผลิตการเกษตรบางชนิดตามปริมาณผลผลิตที่ออกมาก ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่นยังขยายตัวได้ สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านอุปสงค์ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 0.68

รวมเฉลี่ยปี 2561 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 1.07 ซึ่งอยู่ในกรอบคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปของกระทรวงพาณิชย์ที่ร้อยละ 0.8-1.6 โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาพลังงาน ค่าเช่าเคหสถาน ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ในขณะที่อาหารสด โดยเฉพาะราคาผักและผลไม้ลดลงตามปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น   ซึ่งเมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานปี 2561 สูงขึ้นร้อยละ 0.71

สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการเดือนธันวาคม 2561 และปี 2561

          ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวร้อยละ 0.36 (YoY) เป็นการขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยการชะลอตัวของเงินเฟ้อในเดือนนี้มีสาเหตุสำคัญจากการลดลงของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร (ลดลงร้อยละ 0.65) โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 2.12 และหมวดผักและผลไม้ (ลดลงร้อยละ 4.96)  โดยเฉพาะผักสด (ลดลงร้อยละ 4.08) และผลไม้สด (ลดลงร้อยละ 2.86) เนื่องจากสภาพอากาศในปีนี้เหมาะสมต่อผลผลิต ในขณะที่หมวดอื่นๆ ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (ขยายตัวร้อยละ 0.90) โดยเฉพาะหมวดข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง (ร้อยละ 4.58)   เครื่องประกอบอาหาร (ร้อยละ 2.06) เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ (ร้อยละ 1.41) ไข่และผลิตภัณฑ์นม (ร้อยละ 1.35) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (ร้อยละ 1.39) อาหารบริโภคนอกบ้านและในบ้าน (ร้อยละ 0.93 และ 1.98 ตามลำดับ) และหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม (ขยายตัวร้อยละ 0.06) ตามการสูงขึ้นของหมวดเคหสถาน (ร้อยละ 0.58) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล (ร้อยละ 0.55) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ (ร้อยละ 0.29) รวมทั้ง หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า และหมวดยาสูบ เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.26 และ 0.19 ตามลำดับ

เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2561 เงินเฟ้อทั่วไป ลดลงร้อยละ 0.65 (MoM) และเฉลี่ยปี 2561 สูงขึ้น   ร้อยละ 1.07 (AoA)

ดัชนีราคาผู้ผลิต ลดลงร้อยละ 0.5 (YoY) เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน โดยมีสาเหตุจากการลดลงของหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร้อยละ 1.0 โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และกลุ่มเม็ดพลาสติก ตามการเพิ่มขึ้นของอุปทานน้ำมันและผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน กลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง ตามปริมาณสต็อกยางในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง กลุ่มส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ ตามการระบายสินค้ารุ่นเดิมก่อนจะผลิตรุ่นใหม่ กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ ตามพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป ในขณะที่ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.0 ตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะ ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังสด และกลุ่มผักสดและผลไม้ รวมทั้ง สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอานิสงค์จากมาตรการแก้ไขปัญหาราคาสุกรตกต่ำของภาครัฐที่ได้ผล อย่างไรก็ตาม กุ้งแวนนาไม ผลปาล์มสด และยางพารา มีราคาลดลง สำหรับราคาหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 4.9 (ก๊าซธรรมชาติและแร่เหล็ก)

เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2561 ดัชนีราคาผู้ผลิต ลดลงร้อยละ 1.6 (MoM) และเฉลี่ยปี 2561 สูงขึ้น  ร้อยละ 0.4 (AoA)

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวร้อยละ 0.5 (YoY) ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 18 เดือน โดยมีสาเหตุสำคัญจากการลดลงของ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (ลดลงร้อยละ 0.3) ตามการชะลอตัวของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบและข้ออ้อย เนื่องจากการบริโภคในประเทศอ่อนตัวลงในช่วงปลายปี ในขณะที่หมวดอื่นๆ ยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะ หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 3.5 (กระเบื้องเคลือบบุผนัง-ปูพื้น กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น กระเบื้องแกรนิต) ตามต้นทุนวัตถุดิบและการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ร้อยละ 1.4 (ไม้ฝา ไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้แบบ) ตามต้นทุนการนำเข้าที่มีการปรับราคา หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 0.4 (ปูนซีเมนต์ผสม) ตามความต้องการก่อสร้างที่ขยายตัวต่อเนื่อง หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 0.3 (พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง ชีทไพล์คอนกรีต) ตามราคาปูนซีเมนต์และลวดเหล็กอัดแรง และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.9 (ทรายถมที่ ดินถมที่ ดินลูกรัง) ตามความต้องการใช้ในโครงการก่อสร้างถนนในขณะที่ปริมาณผลผลิตยังไม่เพียงพอ

เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2561 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ลดลงร้อยละ 0.7 (MoM) และเฉลี่ยปี 2561 สูงขึ้นร้อยละ 2.6 (AoA)

ภาพรวมเงินเฟ้อปี 2561 และแนวโน้มเงินเฟ้อปี 2562

รวมเฉลี่ยปี 2561 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 1.07 ซึ่งอยู่ในกรอบคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปของกระทรวงพาณิชย์ที่ร้อยละ 0.8-1.6 โดยมีปัจจัยสำคัญจากทั้งด้าน Supply และ Demand ได้แก่ 1) ราคาพลังงาน (Energy Price) ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและบริการต่อเนื่องกับราคาพลังงาน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักสำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อในปีนี้ 2) ราคาผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ (อาหาร) ที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของฤดูกาลและเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิต รวมทั้งความต้องการ ทั้งในประเทศและโลก ส่งผลต่อราคาทั้งเชิงบวกและเชิงลบ แต่โดยเฉลี่ยแล้ว ราคาผลผลผลิตสินค้าเกษตรเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น  3) ความต้องการ (Demand) โดยความต้องการในประเทศ (Domestic demand) ยังคงขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป สอดคล้องกับอัตราค่าจ้างเฉลี่ยและรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ขยายตัวสูงกว่าเงินเฟ้อ รวมทั้งการใช้จ่ายและมาตรการภาครัฐต่างๆ ที่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและเพิ่มกำลังซื้อในหลากหลายรูปแบบ ในขณะที่ ความต้องการของโลก (Global demand) สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลดีโดยเฉลี่ยต่อการส่งออก การลงทุนภาครัฐและเอกชน ที่ยังขยายตัวได้ดี

สำหรับการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน ในช่วงที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับราคาสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน อาทิ ก๊าซหุงต้ม ค่าขนส่ง รวมทั้งค่าเช่าสถานที่ (ที่ไม่ได้ปรับขึ้นมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว) ประกอบกับกำลังซื้อ/ความต้องการของผู้บริโภคยังคงไปได้ดี ทำให้ผู้ประกอบการปรับขึ้นราคาสินค้าในหมวดนี้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ จะสังเกตว่าสินค้าในหมวดนี้จะปรับเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงาน (แก๊ส น้ำมัน ไฟฟ้า) และในปี 2561 มีปัจจัยเรื่องค่าเช่าสถานที่เป็นปัจจัยเพิ่มเติม ทำให้ราคาในหมวดนี้ปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงกว่าในปีที่ผ่านมา

แนวโน้มปี 2562 เงินเฟ้อของไทยเฉลี่ยทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.2 (0.7 – 1.7) เช่นเดียวกับเงินเฟ้อของปี 2561 โดยมีปัจจัยสำคัญจาก ราคาพลังงาน (Energy Price) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2561 แต่ยังคง มีความเสี่ยงจากความผันผวนในโครงสร้างการผลิตและความต้องการโลก รวมทั้งบริบททางการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออก และตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันให้มีการปรับขึ้นค่าโดยสารในประเทศ การลงทุน ทั้งภาครัฐและเอกชนน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น  โดยมีสัญญาณจากปัจจัยชี้นำต่างๆ ทั้งความคืบหน้าการ

 

ลงนามในสัญญาก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ความต่อเนื่องของโครงการลงทุนเดิมที่ยังไม่แล้วเสร็จ และความสนใจขอรับการส่งเสริมการลงทุนและการลงทุนในโครงการต่างๆ เพิ่มเติม ราคาสินค้าเกษตร สินค้าเกษตรสำคัญยังคงมีแนวโน้มราคาในทิศทางที่ดีกว่าปี 2561 โดยเฉพาะราคาข้าว และมันสำปะหลัง ที่ยังมีผลผลิตต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 ในขณะที่ปาล์มน้ำมันและยางพาราน่าจะมีสัญญาณที่ดีจากมาตรการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของภาครัฐที่น่าจะทำให้สถานการณ์ราคาสินค้าเหล่านี้ปรับตัวสูงขึ้นได้เมื่อเทียบกับปี 2561 ราคาสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าอุตสาหกรรมหลายตัวที่ผลิตในประเทศมีสัญญาณต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น (สอดคล้องกับ Producer price index: PPI) แต่ยังมีแรงกดดันจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากการนำเข้า ทำให้ราคาสินค้าอุตสาหกรรมน่าจะมีทิศทางที่ปรับเพิ่มไม่มากนัก การส่งออก คาดว่าจะยังขยายตัวได้ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและยังมีแรงส่งต่อเนื่อง ประกอบกับโอกาสในการย้ายฐานการผลิตเพื่อส่งออกหลายชนิดมายังประเทศไทยยังมีอยู่สูง ทำให้การส่งออกน่าจะยังขยายตัวได้ดี ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อราคาและกำลังซื้อในประเทศ ค่าเงินมีทิศทางอ่อนค่า ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐ ทำให้เงินทุนไหลเข้าในประเทศน้อยลง ส่งผลต่อต้นทุนนำเข้าและเพิ่มรายได้จากการส่งออก เป็นปัจจัยสนับสนุนเงินเฟ้อ

โดยรวม จากการคาดการณ์เบื้องต้น คาดว่าปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้เงินเฟ้อในปี 2562 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตราที่ใกล้เคียงกับปี 2561

——————————————–

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

กระทรวงพาณิชย์

2 มกราคม 2562