จุรินทร์ชู “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด”ร่วมกระชับความสัมพันธ์ อาเซียน-จีน ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ดร. สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เข้าร่วมเป็นองค์ปาฐกถา ในหัวข้อ “การใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงของอาเซียนและจีนเพื่อสร้างการเจริญเติบโตอย่างทั่วถึง” ในงานสัมมนา FutureChina Global Forum ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 12 ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 โดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลสิงคโปร์ และสภาธุรกิจสิงคโปร์-จีน

ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ระบุว่าอาเซียนและจีนมีความเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่นมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยจีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของอาเซียน ปี 2563 มีสัดส่วนถึงร้อยละ 24 ของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของอาเซียน และถึงแม้ทุกประเทศจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่การค้าอาเซียน-จีน เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปี 2563 เป็นปีแรกที่อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีน แทนสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการค้าระหว่างกันกว่า 730,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ชี้ให้เห็นถึงนโยบายหลายอย่างของรัฐบาลไทยที่จะเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ที่มุ่งสนับสนุนการเพิ่มรายได้ให้กับภาคการเกษตร ที่เป็นแหล่งจ้างงานถึงร้อยละ 49 ในไทย โดยการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทายในปีที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนภาคเกษตร กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สร้างประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก นอกจากนี้ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลไทยยังได้ประกาศให้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียนเศรษฐกิจสีเขียว (BCG model) เป็นวาระแห่งชาติ โดยโมเดลดังกล่าวอาศัยศักยภาพของประเทศไทยในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนการพัฒนา 4 สาขายุทธศาสตร์ ได้แก่

(1) เกษตรและอาหาร

(2) สุขภาพและการแพทย์

(3) พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ

(4) การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ในงานสัมมนา FutureChina Global Forum ครั้งนี้ ยังมีผู้เข้าร่วมกล่าวปาฐกถาที่สำคัญอีกหลายท่าน อาทิ นายชาน ชุน สิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สิงคโปร์ นายราโมน โลเปซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ซึ่งผู้เข้าร่วมงาน เห็นตรงกันว่าอาเซียนและจีนเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่มี
ศักยภาพมากที่สุดในโลก ความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงที่ใกล้ชิดต่อกันและกันเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของภูมิภาค โดยความตกลง RCEP ซึ่งครอบคลุมประชากรกว่า 2,200 ล้านคน และคิดเป็นกว่าร้อยละ 30 ของ GDP รวมทั่วโลก และนโยบาย Belt and Road ของจีนจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการยกระดับความสัมพันธ์ในภูมิภาค เพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน

ดร. สรรเสริญฯ กล่าวปิดปาถกฐา ด้วยการเน้นย้ำความสำคัญของการเข้าถึงวัคซีนรักษาโรคโควิด–19 อย่างรวดเร็ว เพียงพอและเท่าเทียม อันเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เศรษฐกิจของโลกฟื้นตัว โดยสนับสนุนความร่วมมือระหว่างอาเซียนและจีนในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวในทุกเวที พร้อมทั้งขอให้ทุกฝ่ายสร้างความร่วมมือภายในภูมิภาคที่ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างการเจริญเติบโตที่มั่งคั่งและยั่งยืนร่วมกัน

——————————————————-
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์
13 กรกฎาคม 2564