วธ.เฟ้น 10 สุดยอดชุมชน “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” พร้อมเปิดแอพพลิเคชั่น ค้นหาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและงานเทศกาลประเพณี

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(รมว.วธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เอกชน เครือข่ายด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมและภาคประชาชนในการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์สินค้าและบริการมาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งวธ. จะขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ภายใต้โครงการ“เที่ยวชุมชน ยลวิถี”นำอัตลักษณ์วิถีชีวิตวัฒนธรรมและประเพณีของชุมชนมาให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติได้ชมและศึกษาเรียนรู้ ทั้งนี้ วธ.จะนำร่องโครงการดังกล่าวโดยคัดเลือกชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร ที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านการท่องเที่ยวในทุกมิติของจังหวัดเพื่อรับรางวัล 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี”เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และปลุกกระแสให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติมาเยือนชุมชนเหล่านี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า สำหรับการคัดเลือก 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี”นั้น ขณะนี้วธ.ได้ตั้งคณะกรรมการคัดเลือก 2 ชุดประกอบด้วยคณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัดและคณะกรรมการอำนวยการฯเพื่อคัดเลือกจากชุมชนคุณธรรมฯที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านการท่องเที่ยวในทุกมิติของจังหวัด 76 จังหวัด รวม 228 ชุมชน ให้เหลือ 10 ชุมชนเพื่อรับรางวัล 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ“เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ซึ่งได้กำหนดเกณฑ์พิจารณาคัดเลือก เช่น อัตลักษณ์ความโดดเด่นของชุมชน สถานที่ท่องเที่ยว อาหาร ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย(CPOT) เมื่อคัดเลือกชุมชนได้แล้ว วธ.จะขับเคลื่อนโครงการ“เที่ยวชุมชน ยลวิถี” หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) คลี่คลาย

นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกัน วธ.อยู่ระหว่างจัดทำระบบแอพพลิเคชั่น หนังสือและอี-บุ๊คเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ 76 จังหวัด เช่น อุทยานประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น แหล่งโบราณคดี หอศิลป์และศาสนสถาน รวมถึงหนังสือและอี-บุ๊คงานเทศกาล การแสดงศิลปวัฒนธรรม ประเพณีทั่วไทยโดยเฉพาะระบบแอพพลิเคชั่นและอี-บุ๊ค ทำให้นักท่องเที่ยวคนไทยและชาวต่างชาติ สามารถค้นหาข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ตและไอแพดได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ทั้งนี้ การส่งเสริม การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จะช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านและชุมชน ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและพึ่งพาตนเองได้ ช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน