จังหวัดอ่างทอง จัดพิธีมอบเงินพระราชทานขวัญถุงกองทุนแม่ของแผ่นดิน ประจำปี 2563

วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.00 น. นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เป็นประธานพิธีมอบเงินพระราชทานขวัญถุงกองทุนแม่ของแผ่นดิน ประจำปี 2563 และมอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้แก่ครัวเรือนผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด/กลุ่มเสี่ยง/กลุ่มเปราะบางในชุมชน โดยมีนายทินกร บุญเงิน พัฒนาการจังหวัดอ่างทอง กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ และผู้เข้าร่วมพิธีประกอบด้วย นางปิติมา รักพานิชมณี นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอ่างทอง นายศักดิ์ดา บรรดาศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง นายปริญญา เขมะชิต ปลัดจังหวัดอ่างทอง นายสุรเชษ นิ่มกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง สำนักงาน ป.ป.ส.ภาค 1 หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ นายเตือนใจ ทรงไตร นายกเทศมนตรีเมืองอ่างทอง ผู้อำนวยการกลุ่มงาน พัฒนาการอำเภอ เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอ่างทอง และประธานเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินจังหวัด/อำเภอ ร่วมเป็นเกียรติ ณ อาคารโดมสำนึกรักบ้านเกิด องค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง ตำบลป่างิ้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง

ตามที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้มีกระแสพระราชดำรัสในโอกาสที่คณะบุคคลได้เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2554 ณ ศาลาดุสิตาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต นั้น พระองค์ได้แสดงความกังวลพระราชหฤทัยเป็นอย่างมากต่อปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด และได้ทรงพระราชทานแนวทางการให้ภาคประชาชนได้ร่วมมือช่วยเหลือรัฐบาลในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งแนวทางหนึ่งที่ได้ทรงมีพระราชปรารภถึงก็คือ “กองทุนแม่ของแผ่นดิน” พระองค์ได้ทบทวนว่าเคยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้สำนักงานป.ป.ส. ตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นกองทุนแม่ของแผ่นดินตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ทรงมีความมุ่งหวังว่า กองทุนแม่ของแผ่นดินจะสามารถช่วยเหลือและแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศได้อย่างมาก

เพื่อสนองพระราชดำริ ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด จังหวัดอ่างทองได้ดำเนินการจัดพิธีมอบเงินพระราชทานขวัญถุงกองทุนแม่ของแผ่นดิน ประจำปี 2563 เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงห่วงใยในปัญหายาเสพติดของประชาชน และใช้แนวทางกองทุนแม่ของแผ่นดิน ลดสถานการณ์ปัญหายาเสพติด สร้างความเข้มแข็งพลังแผ่นดิน สร้างความยั่งยืนให้กับหมู่บ้าน/ชุมชน จึงได้จัดพิธีมอบเงินพระราชทานขวัญถุงกองทุนแม่ของแผ่นดิน จำนวน 8 กองทุนๆ ละ 8,000 บาท มอบพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แก่คณะกรรมการหมู่บ้านต้นกล้ากองทุนแม่ของแผ่นดิน จำนวน 8 หมู่บ้าน/ชุมชน ในพื้นที่ทั้ง 7 อำเภอ ดังนี้

1. หมู่บ้านต้นกล้ากองทุนแม่ของแผ่นดินบ้านท้ายย่าน หมู่ 3 ตำบลศาลาแดง อำเภอเมืองอ่างทอง

2. หมู่บ้านต้นกล้ากองทุนแม่ของแผ่นดินบ้านห้วยคล้า หมู่ 3 ตำบลสาวร้องไห้ อำเภอวิเศษชัยชาญ

3. หมู่บ้านต้นกล้ากองทุนแม่ของแผ่นดินบ้านโพธิ์ทอง หมู่ 6 ตำบลคำหยาด อำเภโพธิ์ทอง

4. หมู่บ้านต้นกล้ากองทุนแม่ของแผ่นดินบ้านเทวราช หมู่ 6 ตำบลเทวราช อำเภอไชโย

5. หมู่บ้านต้นกล้ากองทุนแม่ของแผ่นดินบ้านสำเภาลอย หมู่ 2 ตำบลโรงช้าง อำเภอป่าโมก

6. หมู่บ้านต้นกล้ากองทุนแม่ของแผ่นดินบ้านเพชร หมู่ 7 ตำบลแสวงหา อำเภอแสวงหา

7. หมู่บ้านต้นกล้ากองทุนแม่ของแผ่นดินบ้านทองครึม หมู่ 3 ตำบลมงคลธรรมนิมิต อำเภอสามโก้

8. ชุมชนต้นกล้ากองทุนแม่ของแผ่นดินชุมชนตลาดหลวง เทศบาลเมืองอ่างทอง

จากนั้นนายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เป็นประธานมอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพ ซึ่งเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินจังหวัดอ่างทอง ร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอ่างทอง มอบให้แก่ครัวเรือนผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด/กลุ่มเสี่ยง/กลุ่มเปราะบางในชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน และป้องกันปัญหายาเสพติดในชุมชน จำนวน 27 ครัวเรือน มูลค่า 120,715 บาท

นายทินกร บุญเงิน พัฒนาการจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า กองทุนแม่ของแผ่นดิน มีปรัชญาแนวคิด 3 ส่วน ในการบริหารจัดการกองทุน ได้แก่

ส่วนที่ 1 เรียกว่า “เงินขวัญถุงพระราชทาน” เป็นพระราชทรัพย์ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานให้กับหมู่บ้านและชุมชน โดยสำนักงาน ป.ป.ส. ได้สมทบงบประมาณส่วนหนึ่งนำมาสรรให้กับหมู่บ้านและชุมชน แห่งละ 8,000 บาท เงินจำนวนนี้เปรียบเสมือนสิ่งที่ระลึกแห่งพระราชปณิธาน เป็นเงินพระราชทนอันเป็นสัญลักษณ์แห่งพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น จึงถือเป็นเงินศักดิ์สิทธิ์อันหาที่เสมอเหมือนมิได้ จึงเก็บไว้เป็นเงินขวัญถุงในหมู่บ้าน/ชุมชน โดยไม่มีการใช้จ่าย

ส่วนที่ 2 เรียกว่า “ทุนศรัทธา” เป็นเงินที่ราษฎรในหมู่บ้านและชุมชนที่ได้รับกองทุนแม่ของแผ่นดิน จะร่วมกันบริจาคอย่างต่อเนื่อง และรวบรวมขึ้นด้วยพลังความศรัทธาสมทบเข้ากองทุนแม่ของแผ่นดินในแต่ละหมู่บ้าน เป็นการแสดงออกถึงทุนทางสังคมของหมู่บ้าน/ชุมชน ที่ต้องการไม่ให้มีปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านอย่างเป็นรูปธรรม

ส่วนที่ 3 เรียกว่า “ทุนปัญญา” เป็นเงินที่ราษฎรในหมู่บ้านและชุมชนดังกล่าวคิดค้นขึ้นด้วยภูมิปัญญาของตนเอง ในการระดมทุนเพื่อขยายกองทุนให้กองทุนมีการงอกเงยขึ้นมาจนสามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดของหมู่บ้าน

นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า กองทุนแม่ของแผ่นดินมีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชนโดยชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม เพราะช่วยเสริมสร้างกระบวนการในหมู่บ้านชุมชนด้านความคิด ความรู้ การแลกเปลี่ยน การรวมกลุ่มและความตื่นตัว เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาของหมู่บ้าน/ชุมชน สนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ สนับสนุนให้คนทำดี เสียสละ สนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียง เพื่อการพึ่งพาตนเอง พึ่งพากันและกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนกิจกรรมการแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชน อย่างยั่งยืน

ภาพข่าว/รายงาน : กลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน
ทีม พช.อ่างทอง สร้างสุขชุมชน บนความสมดุลของชีวิต