เซ็นแล้ว ! ” Mini-FTA ฉบับแรก” พาณิชย์ ไทย กับ เมืองโคฟุ ญี่ปุ่น ดัน อัญมณี-เครื่องประดับไทย “ผงาดในตลาดโลก”

วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เวลา 11.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และนายยูอิชิ ฮิงุชิ นายกเทศมนตรีเมืองโคฟุ ประเทศญี่ปุ่น ในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการ เป็นพันธมิตรในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และเมืองโคฟุ จังหวัดยามานาชิ ประเทศญี่ปุ่น เป็นการ MOU แบบ Online ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 สํานักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โดยนายจุรินทร์ เป็นประธานและสักขีพยาน ซึ่งได้กล่าวว่า ท่ามกลางภาวะวิกฤตโควิดและวิกฤติเศรษฐกิจของโลกการส่งออกของไทยในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา(ม.ค.-พ.ค.) สามารถทำรายได้จากการส่งออกเป็นมูลค่า 3.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.78% โดยเฉพาะภาคการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ประเทศไทยสามารถส่งออก มูลค่า 67,578 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.8% โดยเฉพาะเครื่องประดับเงินของไทยสามารถทำการส่งออกได้เป็นลำดับที่ 1 ของโลก และพลอยสีเป็นลำดับที่ 3 ของโลก

สำหรับการค้าไทย-ญี่ปุ่น ประเทศญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 2 ของไทยและตลาดญี่ปุ่นถือว่าเป็น 1 ใน 6 ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญที่สุดของไทย 5 เดือนแรกของปีนี้ ไทยสามารถส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปญี่ปุ่นมูลค่า 2,432 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.84% ตนได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทางการค้าเชิงลึกกับประเทศต่างๆทั่วโลก นอกจากระบบในการค้าปกติหรือรูปแบบการทำ FTA ตนมอบนโยบายความสัมพันธ์ทางการค้าเชิงลึกหรือการลงนามบันทึกความเข้าใจที่สามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของไทยกับมณฑลของรัฐหรือเมืองที่มีความสำคัญ

โดยการลงนามระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับเมืองโคฟุ จังหวัดยามานาชิจึงเกิดขึ้นถือเป็นก้าวสำคัญของการเริ่มต้นนโยบายขยายความสัมพันธ์การค้าเชิงลึกของกระทรวงพาณิชย์ประเทศไทย เป็นการลงนามตามนโยบายเป็นครั้งแรก ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน

ประการที่หนึ่ง มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านการพัฒนาธุรกิจการผลิตอัญมณีเครื่องประดับทางการตลาดและการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างการในส่วนของ SMEs ของทั้งสองฝ่าย เมืองโคฟุเก่งเรื่องเทคโนโลยีการขึ้นตัวเรือนแต่ประเทศไทยเก่งในเรื่องการเจียระไนอัญมณี

ประการที่สอง ร่วมมือกันทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดร่วมกันทั้งในประเทศไทยและญี่ปุ่นเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันต่อไป ประการที่สาม ตนหวังว่ามูลค่าการค้าระหว่างกันในเรื่องอัญมณีระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในปี 2564 นี้จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ตัวเลขปีที่แล้วสามารถทำมูลค่าการค้าระหว่างกันไทย-ญี่ปุ่น ด้านอัญมณี 14,754 ล้านบาท บวก 2% แต่ปี 64 ตั้งเป้าว่าจะทำมูลค่าการค้าระหว่างกันด้านอัญมณีและเครื่องประดับให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ไม่ต่ำกว่า 15,500 ล้านบาท

ขอขอบคุณเมืองโคฟุ จังหวัดยามานาชิ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศกรุงโตเกียว ที่ร่วมกันผลักดันสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันขึ้นในวันนี้เชื่อว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมการค้าและพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไปและขอให้พี่น้องชาวโคฟุประสบแต่ความสุขโดยทั่วกันด้วย

สำหรับบรรยากาศในงานวันนี้นั้น ช่วงหนึ่งทางนายยูอิชิ ฮิงุชิ นายกเทศมนตรีเมืองโคฟุ กล่าวผ่านระบบถ่ายทอดสัญญาณสดจากประเทศญี่ปุ่นว่า เมืองโคฟุมีประชากรราว 190,000 คนถือเป็นศูนย์กลางด้านการเมืองเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของจังหวัดยามานาชิ เมืองโคฟุเป็นแหล่งผลิตผลึกแก้วคริสตัลที่มีการพัฒนาการเจียระไนและแปรรูปให้เป็นแหล่งแปรรูปอัญมณี เมืองโคฟุเป็นศูนย์กลางแห่งอัญมณีและเครื่องประดับ โดยก่อนนี้ในปี 2562 ตนได้มีโอกาสเดินทางมาประเทศไทยและได้ก็จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจที่กรุงเทพเพื่อประชาสัมพันธ์เครื่องประดับของเมืองโคฟุให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น แม้ปัจจุบันจะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่ส่งผลต่อการเดินทางระหว่างประเทศ แต่การลงนาม MOU ในวันนี้จะช่วยเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องประดับทั้งไทยและเมืองโคฟุมากยิ่งขึ้นต่อไป และหวังว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดจะคลี่คลายโดยเร็วและอุตสาหกรรมจิวเวลรี่ของสองประเทศจะพัฒนามากยิ่งขึ้นต่อไป

และหลังจากนั้นอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กับ นายกเทศมนตรีเมืองโคฟุได้ลงนาม MOU ท่ามกลางสักขีพยาน เช่น นายสุริยน ศรีอรทัยกุ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นางประพีร์ สรไกรกิติกูล ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอัญมณี เครื่องประดับและโลหะมีค่า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ เป็นต้น

จากนั้นหลังเสร็จพิธีนายจุรินทร์ กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า ” การลงนามนี้ถือเป็น Mini FTA ฉบับแรกที่ตนได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์สร้างความสัมพันธ์ทางการค้าเชิงลึก เมืองโคฟุเป็นศูนย์กลางการค้าด้านอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศญี่ปุ่น การลงนามจะก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการทั้งส่งเสริมภาคการผลิต ทำการตลาดร่วมกันระหว่างไทยกับญี่ปุ่นและถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆระหว่างกัน ทั้งการเจียระไน ขึ้นตัวเรือนและซอฟท์แวร์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการผลิต

Mini FTA ฉบับต่อไปที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าคือทำกับมณฑลไหหลำของประเทศจีน และรัฐเตลังกานาของประเทศอินเดียและอื่นๆ คาดว่าจะสามารถลงนามได้ในช่วงเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ และได้คุยกับภาคเอกชน ในช่วง 4-5เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นมียอดสั่งซื้อมากขึ้นประมาณ 30% จากที่คาดไว้และตนได้หารือกับภาคเอกชนและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีความเป็นไปได้ที่ช่วงเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ อาจไปจัดการส่งเสริมการขายที่จังหวัดภูเก็ตในบางจุดที่มีความเหมาะสม เพื่อให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ประสงค์นำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับจากประเทศไทยเดินทางมาที่ภูเก็ตเพื่อส่งเสริมภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์และส่งเสริมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศไทยด้วย ” นายจุรินทร์ กล่าว