GALAXI Lab เสริมความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในอุตสาหกรรมอวกาศ ด้วยระบบมาตรฐานสากลด้านทดสอบชิ้นส่วนดาวเทียม

ช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจอวกาศของประเทศไทยเติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียมสำรวจทรัพยากร (Earth Observation Satellite) และระบบดาวเทียมนำทาง (GNSS) ซึ่งมีการนำมาประยุกต์ใช้งานอย่างกว้างขวางในหลายภาคส่วน ปัจจุบันรัฐบาลไทยเล็งเห็นความสำคัญของเศรษฐกิจอวกาศเป็นอย่างมาก จึงมีนโยบายส่งเสริม ผลักดันและยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการ ในประเทศไทยที่พร้อมเข้าสู่ Space Value Chain ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า กิจการอวกาศของประเทศต้องมีการพัฒนาควบคู่กันไปในทุกๆด้าน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมต้นน้ำ ซึ่งเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ (Aerospace) ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องการมาตรฐานทั้งในกระบวนการผลิตหรือแม้แต่การให้บริการในระดับที่สูงมาก โดยตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ห้องปฏิบัติการความเป็นเลิศและนวัตกรรมการบินและอวกาศ หรือห้องแล็บ “กาแลคซี่” GALAXI (GISTDA’s Aerospace Laboratory of Excellence and Innovation) ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ได้เริ่มให้บริการการทดสอบชิ้นส่วนวัสดุอากาศยาน และได้รับรองมาตรฐานในระดับสากลมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ AS9100 NADCAP รวมทั้งมาตรฐานความสามารถในการให้บริการทดสอบของห้องปฏิบัติการ ISO/IEC17025 และล่าสุดจาก BUREAU VERITAS ได้ทำการตรวจประเมินซึ่งเป็นการยืนยันว่าห้องแล็บแห่งนี้ได้รับการรับรองในมาตรฐานสากลจริงๆ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา GISTDA ทำหน้าที่สร้างความเข้มแข็งและความเชื่อมั่นให้แก่ภาคการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในประเทศมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลมากขึ้น เช่น Senior Aerospace, Lenso Aerospace, Triumph Group และ Aeroworks ถือเป็นก้าวสำคัญ ในการวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศในอุตสาหกรรมประเภทนี้ และยังเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนารวมไปถึงการลงทุนของรัฐบาลบนพื้นที่ EEC อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีภารกิจที่น่าจับตามองอีก 1 โครงการคือการผลิตและทดสอบดาวเทียมเองภายในประเทศ ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดนี้ จะเกิดขึ้นบนพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ บนพื้นที่ EECd และในปัจจุบันการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานการทดสอบดาวเทียมรวมไปถึงการรับการถ่ายทอดจากผู้เชี่ยวชาญของ Surrey Satellite Technology Limited (SSTL) จากประเทศอังกฤษมีความคืบหน้าไปกว่า 90% แล้ว และจะมีการทดสอบขั้นสุดท้ายของดาวเทียมในต้นปี 2565 ที่จะถึงนี้ และเพื่อให้ GISTDA เป็นผู้ให้บริการด้านการทดสอบดาวเทียมที่มีมาตรฐานเทียบเท่าผู้นำเทคโนโลยีในกลุ่มสหภาพยุโรป จึงได้มีการขยายขอบข่ายระบบมาตรฐานการจัดการคุณภาพ AS9100 ให้ครอบคลุมถึงการทดสอบ “ชิ้นส่วนดาวเทียม” และได้รับการรับรองแล้วในปี 2564 นี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อรับรองมาตรฐานการทดสอบดาวเทียมทั้งระบบต่อไป GISTDA ถือเป็นองค์กรหนึ่งเดียวของไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในกิจการด้านอวกาศ ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เป็นฐานให้ผู้ประกอบการธุรกิจด้านอวกาศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว