วธ.จัดตั้งคณะทำงานศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบและชี้แจงข้อมูล แก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว พร้อมบูรณาการความร่วมมือทุกหน่วยงานภายในกระทรวงผ่านคณะทำงานโฆษก วธ.

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ตามที่พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม/ข่าวบิดเบือน(Fake News)เพื่อเร่งตรวจสอบชี้แจงข่าวปลอม/ข่าวบิดเบือน ทำให้ประชาชนได้รับทราบและสร้างความรู้ความเข้าใจข้อมูลที่ถูกต้องอย่างรวดเร็วนั้น ขณะนี้ได้รับรายงานจากสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม(สป.วธ.) ได้จัดตั้งคณะทำงานศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม(Fake News) กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว

โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน นายประสพ เรียงเงิน รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานคณะทำงาน และมีผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม เจ้าหน้าที่หน่วยงานสังกัดสป.วธ.ประกอบด้วยกองเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กลุ่มประชาสัมพันธ์กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กองกฎหมายและกองกลาง เป็นคณะทำงาน เพื่อทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบประเด็นข้อมูลข่าวสารที่เป็นข่าวปลอม/ข่าวบิดเบือนที่มีการเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ อีกทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบและชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นข้อมูลข่าวสารกรณีมีข่าวปลอม/ข่าวบิดเบือนรวมถึงส่งต่อข้อมูล ประสานงานและแจ้งเตือนไปยังศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อคลี่คลายสถานการณ์และแก้ไขปัญหาได้ทันที

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน วธ.ได้บูรณาการการดำเนินการติดตามและชี้แจงข่าวปลอม/ข่าวบิดเบือนระหว่างหน่วยงานต่างๆภายใน วธ.โดยผ่านคณะทำงานโฆษกกระทรวงวัฒนธรรมประกอบด้วยผู้แทนส่วนราชการและองค์การมหาชนสังกัด วธ. ได้แก่ กรมการศาสนา (ศน.) กรมศิลปากร (ศก.) กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.)สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์(สบศ.) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) และศูนย์คุณธรรม(องค์การมหาชน) ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานจะตรวจสอบประเด็นข้อมูลข่าวปลอม/ข่าวบิดเบือน รวมถึงประสานกับคณะทำงานศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของ วธ. ในการชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับข่าวปลอม/ข่าวบิดเบือนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแต่ละหน่วยงาน รวมถึงบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการตรวจสอบข่าวปลอม/ข่าวบิดเบือน การชี้แจงข้อเท็จจริงและสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ถือเป็นสร้างภูมิคุ้มกันกัน และใช้วิจารณญาณในการรับข่าว ว่ามีข้อเท็จจริงหรือไม่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และหากพิจารณาแล้วว่าข่าวไม่น่าเชื่อถือและไม่มีมูลความจริง ขอความร่วมมือไม่ควรแชร์ออกไป