พัฒนาชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้นำต้องทำเป็นแบบอย่าง เร่งเครื่อง “ออกปากเอาแรง หว่านข้าวลงนา” พร้อมเป็นต้นแบบ “โคก หนอง นา พช. “

วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 เวลา 10.00 น. นายจรัญ อินทสระ พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกิจกรรม “ออกปากเอาแรง หว่านข้าวลงนา” ครัวเรือนของนายอนนท์ เหมะรักษ์ เจ้าของแปลง พื้นที่ขนาด 3 ไร่ ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” โดยมี นายประดับ หมื่นจร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาพระทอง นางสาวจริยา คงตุก พัฒนาการอำเภอชะอวด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอชะอวด เข้าร่วมกิจกรรม ณ บ้านเขากอย หมู่ที่ 3 ตำบลเขาพระทอง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช

นายจรัญ อินทสระ พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับการอนุมัติดำเนินโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 กิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” จำนวน 8,870,000 บาท โดยมีกลุ่มเป้าหมาย พื้นที่เรียนรู้ชุมชน 139 แห่ง แบ่งเป็น พื้นที่ขนาด 1 ไร่ จำนวน 95 แปลง และพื้นที่ขนาด 3 ไร่ จำนวน 44 แปลง นอกจากนี้ ในส่วนของอำเภอชะอวด มีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง พื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 1 แปลง และพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 2 แปลง รวมทั้งหมด 3 แปลง เป็นเงินงบประมาณ จำนวน 253,200 บาท

พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวต่อว่า “ โคก หนอง นา พช.” เป็นการบริหารจัดการน้ำและพื้นที่การเกษตร ผสมผสานกับภูมิปัญญาพื้นบ้าน โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนต่าง ๆ เช่น พื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัย พื้นที่สำหรับแหล่งน้ำ พื้นที่สำหรับเพาะปลูก พื้นที่สำหรับเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ การแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วน ๆ นี้อาจจะแตกต่างกันไปตามความต้องการของเจ้าของพื้นที่ และความเหมาะสมของสภาพภูมิศาสตร์และสังคมนั้น โดยการประยุกต์ใช้อัตราส่วน 30 : 30 : 30 : 10 ออกเป็น “โคก-หนอง-นา” “โคก” สร้างโคกบนพื้นที่ของตนเอง จากการนำดินที่ได้จากการขุดหนอง นำมาถมเป็นโคกเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ปลูกไม้ยืนต้นหรือไม้ที่ให้ผลระยะยาว รวมทั้งปลูกต้นไม้ตามแนวทางศาสตร์พระราชา คือ “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ต่อมา “หนอง” ขุดหนอง รูปร่างคดโค้งอิสระ ไม่เป็นสี่เหลี่ยม เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งหรือจำเป็น และสามารถใช้เป็นที่รองรับน้ำยามน้ำท่วมหลาก

นอกจากหนองจะเป็นแหล่งน้ำไว้ใช้ในพื้นที่แล้วก็สามารถใช้เลี้ยงสัตว์น้ำได้อีกด้วย และ “นา” ความหมายของนา ไม่ใช่แค่การปลูกข้าว ในพื้นที่ลุ่มต่ำสามารถทำนาผักบุ้ง นาบัว นาบอน ปลูกพืชผักล้มลุก ปลูกพืชอายุสั้นไว้รับประทาน เหลือสามารถแบ่งปัน หรือจำหน่ายสร้างรายได้ต่อไป เมื่อครบ 3 องค์ประกอบนี้จะทำให้ครัวเรือนสามาถบริหารจัดการพื้นที่ได้ อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวเป็นสูตรหรือหลักการโดยประมาณ สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่ ปริมาณน้ำฝน และสภาพแวดล้อม เช่น ในภาคใต้ที่มีฝนตกชุก หรือพื้นที่ที่อยู่ใกล้เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ อาจลดขนาดบ่อหรือสระน้ำให้เล็กลง และปรับพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์อื่น

นายอนนท์ เหมะรักษ์ เจ้าของแปลง กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชนที่ได้ให้โอกาส และให้ความรู้จากการเข้าร่วมโครงการฯ ตนเองรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก ซึ่งก่อนหน้านี้ตนเองได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันโดยการทำกิจกรรมลดรายจ่าย ปลูกผักที่รับประทานไว้รอบบ้าน หลังจากได้รับทราบว่ากรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินงานโครงการฯ ดังกล่าว ซึ่งเป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ในรูปแบบ “โคก หนอง นา” นั้น

จึงมีความตั้งใจว่าจะต้องเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อมีส่วนในการสืบสานสิ่งที่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้มอบไว้ให้พี่น้องประชาชนชาวไทยให้จงได้ นอกจากจะแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาครัวเรือนอื่น ๆ ในชุมชนเรื่องของการลดรายจ่ายแล้ว ยังมีโอกาสแบ่งปันอาหารไปยังครัวเรือนข้างเคียง มีเหลือก็สามารถนำไปจำหน่ายสร้างรายได้เพิ่มขึ้น แม้จะตกอยู่ภายใต้วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ครัวเรือนใกล้เคียงก็จะสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข เนื่องด้วยความมั่นคงทางอาหารที่มีอยู่ในพื้นที่โครงการฯ ทั้งนี้ ตนเองมีความตั้งใจเป็นอย่างสูงที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จ และเป็นต้นแบบพร้อมทั้งขยายผลไปยังครัวเรือนในหมู่บ้าน ตลอดจนตำบลข้างเคียง

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ในกิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” จะช่วยให้พี่น้องประชาชนสามารถฟื้นตัว และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เมื่อเทียบกับการลงทุนในด้านอื่นๆ ถือว่ามีความเสี่ยงที่น้อย แต่กลับได้ผลประโยชน์อย่างคุ้มค่าและทั่วถึงตามหลักทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นหลักประกันในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง พัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ยกระดับขีดความสามารถของชุมชนให้พึ่งตัวเองได้อย่างยั่งยืน

นครศรีธรรมราช นครแห่งอารยธรรม เราชาวนคร คือ อารยชน มุ่งมั่น สร้างสรรค์ ร่วมกันพัฒนาเมืองนคร

เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้ ภายในปี 2565 Change for good
กรมการพัฒนาชุมชน รายงาน