ทส.เก็บข้อมูล ประเมินเขตปลอดภัยและความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม กรณีเพลิงไหม้โรงงาน บริษัท หมิงตี้

วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมาย คพ. ในการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมกรณีเพลิงไหม้โรงงาน บริษัท หมิงตี้เคมิคอล จำกัด และได้ประสานข้อมูลรายวันให้กับศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อใช้ประกอบการบัญชาการณ์เหตุการณ์ต่อเนื่องมา ซึ่งวันนี้ คพ.ได้ประสานสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 5 (นครปฐม) และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 6 (นนทบุรี) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ คพ. ในการประชุมหารือเพื่อสรุปความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมหลังเพลิงไหม้โรงงานดังกล่าว จากผลการตรวจสอบพบว่าสถานการณ์มลพิษในพื้นที่ดีขึ้นตามลำดับ เหลือเพียงการตรวจสอบสารเคมีและกากของเสียอันตรายที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่โรงงานเพื่อหาแนวทางการจัดการ บำบัดและขนย้ายออกไปกำจัดให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการต่อไป

นายอรรถพล กล่าวว่า สถานการณ์คุณภาพอากาศในวันนี้ ในรัศมี 1-2 กิโลเมตรดีขึ้น อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เหลือเพียงพื้นที่ในรัศมี 1 กิโลเมตรรอบพื้นที่โรงงานที่ต้องมีการตรวจสอบและเฝ้าระวังอยู่ต่อไป โดยที่ประชุมได้กำหนดแผนและแบ่งสายงานการติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมต่อเนื่องจากวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 อาทิ การตรวจสอบน้ำที่ปนเปื้อนจากการดับเพลิงในพื้นที่โรงงาน การตรวจสอบคุณภาพอากาศบริเวณที่เกิดเหตุและชุมชนโดยรอบในรัศมี 0.5, 1 และ 2 กิโลเมตร และเก็บตัวอย่างน้ำผิวดินในชุมชนโดยรอบ ทั้งนี้ ข้อมูลผลการวิเคราะห์ทั้งหมดจะนำมาประมวลผลเพื่อประเมินความเสี่ยงและความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพิจารณาหาแนวทางในการจัดการเพื่อลดปัญหามลพิษและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมต่อไป

โดยการดำเนินงานในครั้งนี้มีหน่วยงานต่างๆที่เข้าร่วม อาทิ จังหวัดสมุทรปราการ กองบัญชาการกองทัพไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และบริษัทในกลุ่ม พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท NPC จำกัด บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ ในวันนี้ เจ้าหน้าที่ NPC ยังคงเฝ้าระวังเกี่ยวกับการเติมสาร DEHA ที่จะไปช่วยยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาโพลิเมอร์ไรเซชั่น และสาร F500 ที่จะช่วยป้องกันการลุกติดไฟของสารสไตรีนที่รั่วไหล พร้อมทั้งตรวจสอบอุณหภูมิของถังตลอดเวลา และทีม คพ.และเจ้าหน้าที่กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก ได้ร่วมกันประเมินปริมาณความเข้มข้นของสารสไตรีนและฟอร์มัลดีไฮด์ที่ตกค้าง ในส่วนของการสื่อสารกับประชาชน คพ.ได้จัดทำอินโฟกราฟิกให้ความรู้ในเรื่องการข้อควรปฏิบัติสำหรับประชาชนเมื่อกลับเข้าที่พักอาศัยหลังเกิดเพลิงไหม้ และคำแนะนำการใช้น้ำรอบพื้นที่เกิดเหตุ ซึ่งน้ำฝน น้ำคลอง ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสและนำน้ำฝนมาใช้ในการอุปโภคบริโภคในช่วงนี้ ส่วนน้ำประปา สามารถใช้ในการอุปโภคบริโภคได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ ประชาชนที่มีการรองน้ำประปาใส่ภาชนะไว้ ให้มีฝาปิดมิดชิดเพื่อป้องกันการปนเปื้อน นายอรรถพล กล่าว