กรมอนามัย แนะชาวบ้านพื้นที่จุดระเบิดห่าง 2-5 กิโลเมตร ทำความสะอาดบ้านถูกวิธี ลดเสี่ยงสารเคมีตกค้าง

​​กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะผู้ประสบภัยจากเหตุระเบิด บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ที่อาศัยในบริเวณ 2-5 กิโลเมตร ประเมินความปลอดภัยของบ้านและทำความสะอาดบ้านเรือน ที่พักอาศัย เพื่อลดสารเคมีปนเปื้อนตกค้างและต้องทำอย่างถูกวิธี

​นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์เหตุระเบิด บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการที่ผ่านมา นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในบริเวณดังกล่าวแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะบ้านเรือน ที่พักอาศัยภายในบริเวณที่เกิดเหตุอาจจะยังมีเขม่าหรือสารเคมีที่ปนเปื้อนตามบ้านเรือน ซึ่งขณะนี้ได้อนุญาต ให้ประชาชนที่มีที่พักอาศัยที่ห่างจากพื้นที่เขตระเบิด 2-5 กิโลเมตร สามารถเข้าที่พักอาศัยได้ สิ่งสำคัญ ที่ประชาชนจะต้องคำนึงถึงเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลงคือ ให้ประเมินความปลอดภัยของบ้านและสภาพแวดล้อมโดยรอบ หากไม่มีกลิ่นสารเคมีรุนแรง ให้เข้าไปดูแลทำความสะอาดบ้านและสภาพแวดล้อม เพราะอาจมีคราบเขม่าควันและสารเคมีตกค้างภายในบ้าน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพตามมาได้

​“ทั้งนี้ การดูแลที่พักอาศัยและบริเวณโดยรอบให้สะอาดปลอดภัยจากสารเคมี สามารถปฏิบัติตามขั้นตอนต่าง ๆ ได้ดังนี้

1) สำรวจความเสียหายที่อาจเกิดจากแรงสั่นสะเทือนและการระเบิด ซึ่งอาจส่งผลต่อโครงสร้างบ้านและบริเวณโดยรอบ เช่น รอยแตกร้าวของพื้น ผนัง เพดาน และกระจก

2) เก็บ กวาด เศษกระจก กระเบื้อง หรือเศษวัสดุที่แตกหักภายในบ้าน ที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บ

3) ระบายอากาศภายในบ้าน โดยเปิดประตู หน้าต่าง เพื่อให้อากาศถ่ายเท

4) ตรวจสอบระบบไฟฟ้าก่อนใช้งาน ระบบ ปรับอากาศ และทางรางระบายน้ำ

5) การดูแลทำความสะอาดคราบเขม่าควัน โดยให้จัดเตรียมอุปกรณ์ ในการทำความสะอาดและอุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากกรองคาร์บอน ถุงมือยาง รองเท้ายาง แล้วใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดคราบเขม่าควันที่อาจปนเปื้อนบนโต๊ะ ตู้ เตียง โซฟา อุปกรณ์ และสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ จากนั้นเช็ดด้วยผ้าแห้ง นอกจากนี้ ให้ซักทำความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าปูโต๊ะ ผ้าม่าน หรือวัสดุที่เป็นผ้า ซึ่งอาจปนเปื้อนเขม่าควันหรือสารเคมี

6) การดูแลทำความสะอาดโดยทั่วไป ให้เช็ดถูทำความสะอาดพื้น ผนัง และบริเวณโดยรอบอย่างทั่วถึง รวมทั้งล้างทำความสะอาดภาชนะอุปกรณ์ในห้องครัว เช่น จาน ชาม ช้อน อุปกรณ์ในห้องครัว ขัดล้างและทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องส้วม และจัดเก็บขยะใส่ถุง มัดปากถุงให้มิดชิด และนำไปทิ้งในจุดทิ้งอย่างเหมาะสม

7) กรณีที่ยังได้กลิ่นจาก สารเคมีรุนแรง ไม่ควรเข้าพักอาศัย และติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 8 กรกฎาคม 2564