ปภ.ประสานภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้เตรียมพร้อมรับมือสภาพอากาศแปรปรวน ฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง และคลื่นลมแรงในช่วงวันที่ 28 ธ.ค. 61 – 2 ม.ค. 62

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ประสานภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เตรียมพร้อมรับมือฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ส่วนจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และภาคใต้เฝ้าระวังฝนตกหนักและคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 28 ธันวาคม 2561 – 2 มกราคม 2562 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ความกดอากาศสูงกำลังแรงจะแผ่ลงมาปกคลุมสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนในคืนวันที่ 27 ธันวาคม 2561 และจะแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนถึงวันที่ 2 มกราคม 2562 ประกอบกับจะมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือในช่วงวันที่ 28 – 30 ธันวาคม 2561 ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 5 องศาเซลเซียส สำหรับภาคใต้ มีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนัก บางแห่ง คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังแรง อ่าวไทยมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร ทำให้ในช่วงวันที่ 28 ธันวาคม 2561 – 2 มกราคม 2562 มีพื้นที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย ดังนี้ 

พื้นที่เฝ้าระวังฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ช่วงวันที่ 28 – 29 ธันวาคม 2561 ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

พื้นที่เฝ้าระวังฝนตกหนักและคลื่นลมแรง ช่วงวันที่ 29 ธันวาคม 2561 – 2 มกราคม 2562 ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และภาคใต้

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประสานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำและแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย อีกทั้งเสริมแนวคันกั้นน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม โดยเฉพาะในพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมขังและพื้นที่เศรษฐกิจ รวมถึงประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางทะเล โดยเฉพาะการห้ามเดินเรือทุกประเภท รวมถึงกำชับสถานประกอบการในพื้นที่ริมชายฝั่งทะเล แจ้งเตือนนักท่องเที่ยวห้ามประกอบกิจกรรมทางทะเลทุกประเภทในช่วงที่มีคลื่นลมแรง ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป