รมว.ยุติธรรม สั่งการให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ทำงานเชิงรุกรับคำขอการช่วยเหลือเยียวยาจำเลยในคดีอาญาที่ติดคุกฟรี ทั้งที่ไม่ได้กระทำความผิด หรือ “แพะ”

วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีจำเลยในคดีอาญา หรือ “แพะ” ที่ถูกขัง ต่อมาศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามิได้เป็นผู้กระทำความผิด หรือการกระทำไม่เป็นความผิด ซึ่งมีสิทธิได้รับการช่วยเหลือเยียวยา ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 มายื่นคำขอค่าทดแทนฯ เพื่อขอรับการเยียวยาจำนวนน้อยมาก โดยจำเลยเหล่านี้อาจยังไม่ทราบถึงสิทธิที่จะพึงได้รับตามกฎหมายดังกล่าว จึงได้สั่งการให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพดำเนินการประสานขอข้อมูล จากกรมราชทัณฑ์เพื่อดำเนินการเชิงรุกรับคำขอการช่วยเหลือเยียวยาเพื่อประชาชนที่ตกเป็นจำเลยในคดีอาญาได้เข้าถึงความยุติธรรม

นายสมศักดิ์ฯ กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับรายงานจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพว่า ได้รับรายชื่อจำเลยในคดีอาญา หรือ “แพะ” จากกรมราชทัณฑ์ ที่ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากศาลยกฟ้อง ทั้งหมดทั่วประเทศ จำนวน 355 ราย จึงได้สั่งการให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการเชิงรุก ลงพื้นที่ ติดตามเพื่อแจ้งสิทธิและรับคำขอช่วยเหลือเยียวยา โดยให้ดำเนินการนำเสนอคณะอนุกรรมการฯ ประจำจังหวัด ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้ จากนั้น นำเสนอคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ เพื่อเป็นการบรรเทาความทุกข์ให้ประชาชนที่ต้องตกเป็นจำเลยติดคุกฟรี ทั้งที่ไม่ได้กระทำความผิด หรือ “แพะ” โดยสิทธิที่อาจได้รับการเยียวยา ได้แก่

กรณีทั่วไป

(1) ค่าทดแทนจากการถูกคุมขัง จ่ายอัตราวันละ 500 บาท

(2) ค่ารักษาพยาบาล ไม่เกิน 40,000 บาท

(3) ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ ไม่เกิน 50,000 บาท

(4) ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ ให้จ่ายในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในท้องที่จังหวัดที่ประกอบการงาน

(5) ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินคดี ได้แก่ ค่าทนายความ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีตามที่กฎหมายกำหนด

กรณีเสียชีวิต ได้แก่

(1) ค่าทดแทนในกรณีที่จำเลยถึงแก่ความตาย 100,000 บาท

(2) ค่าจัดการงานศพ 20,000 บาท

(3) ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู ไม่เกิน 40,000 บาท และ

(4) ค่าเสียหายอื่นไม่เกิน 40,000 บาท แต่ต้องเป็นผลโดยตรง จากถูกดำเนินคดี

ทั้งนี้ การพิจารณาให้ความช่วยเหลือขึ้นอยู่กับคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา เป็นสำคัญ ที่จะพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งคดี และโอกาสที่จำเลยจะรับการชดเชยจากทางอื่นด้วย และต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เป็นสำคัญ

นายสมศักดิ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นจำเลยในคดีอาญา ที่ติดคุกฟรี ทั้งที่ไม่ได้กระทำความผิด หรือ “แพะ” เพื่ออำนวยความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย โดยสามารถติดต่อขอรับการช่วยเหลือได้ที่ ส่วนกลาง (กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ) และส่วนภูมิภาค (สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ) หรือติดต่อสายด่วนยุติธรรม โทร.1111 กด 77

//////////////’